สถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง
31 ก.ค. 2563
สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ มีความหมายตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 หมายถึงสถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนิน (1) กิจการสปา (2) กิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม และ (3) กิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง สำหรับกิจการตาม (1) และ (2) จะเว้นแต่ที่เป็นการดำเนินการในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หรือการให้บริการในสถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัวตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ส่วนกิจการตาม (3) นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ออก “กฎกระทรวง กำหนดให้กิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2563” ประกาศในราขกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 และมีผลใช้บังคับเพื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
“กิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง” หมายความว่า กิจการที่ให้บริการเกี่ยวกับการดูแล ส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพ หรือการประคับประคองผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่มีปัญหาด้านสุขภาพโดยวิธีการจัดกิจกรรมในระหว่างวัน หรือการช่วยเหลือในการดำรงชีวิต หรือการจัดสถานที่เพื่อพำนักอาศัย หรือสถานที่บริบาลดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง เว้นแต่เป็นการดำเนินการในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
ผู้ซึ่งประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในกิจการดังกล่าวอยู่ จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ คำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการ หรือคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการต่อผู้อนุญาต (กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข) ภายใน 180 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ เมื่อยื่นคำขอฯแล้ว ก็สามารถประกอบกิจการ ดำเนินการ หรือให้บริการต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่รับขึ้นทะเบียนจากผู้อนุญาต
นอกจากนี้ยังได้ออก “กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. 2563” เพื่อให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการใช้ปฏิบัติ กฎกระทรวงฉบับนี้ประกอบด้วยหมวดที่กำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ มาตรฐานด้านความปลอดภัย และมาตรฐานด้านการให้บริการ โดยมีข้อกำหนดทางด้านกายภาพเกี่ยวกับพื้นที่ที่ให้บริการทั้งภายในและภายนอก และข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่น่าสนใจ เช่น
– มีความกว้างของทางเดินไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร
– กรณีอยู่ในอาคารเดียวกันกับการประกอบกิจการอื่น ต้องมีการแบ่งเขตพื้นที่บริเวณที่ให้บริการอย่างชัดเจน ไม่รบกวนการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
– ห้องน้ำ ต้องมีลักษณะเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น ประตูเป็นแบบเปิดออกภายนอกหรือบานเลื่อนขนาดกว้างสุทธิไม่ต่ำกว่า 90 เซนติเมตร มีราวจับตั้งแต่ประตูไปจนถึงโถส้วมและบริเวณที่อาบน้ำ ที่โถส้วมมีราวจับชิดผนังอย่างน้อยหนึ่งด้าน ติดตั้งสัญญาณเรียกฉุกเฉินในห้องน้ำ เป็นต้น
– มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ และติดตั้งเครื่องดับเพลิงไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจนอย่างน้อยชั้นละหนึ่งเครื่อง
– มีสัญญาณเรียกฉุกเฉิน เช่น กริ่ง กระดิ่ง หรือสัญญาณเตือนภัย
– มีอุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพ และมีเครื่องกระตุกหัวใจอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง
ดาวน์โหลดกฎกระทรวง: