ปรับปรุงกฎกระทรวงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการฯ

ปรับปรุงกฎกระทรวงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการฯ
4 มี.ค. 2564

กระทรวงมหาดไทยออก “กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548

การแก้ไขเพิ่มเติมส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงข้อกำหนดเดิมให้เหมาะสม สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศมากขึ้น ที่น่าสนใจ เช่น
– ปรับปรุงบทนิยามคำว่า “สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา” โดยได้เพิ่มข้อความต่อท้ายว่า “และให้หมายความรวมถึงพื้นที่โดยรอบอาคารนั้นด้วย”
– เพิ่มบทนิยามคำว่า “พื้นที่หลบภัย” และ “ที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา”
– ปรับปรุงประเภทและลักษณะอาคารที่ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ดูรายละเอียดในข้อ 3 ของกฎกระทรวง)
– เพิ่มข้อ 3/1 กำหนดว่า รายละเอียดเกี่ยวกับป้ายสัญลักษณ์ รูปสัญลักษณ์ เครื่องหมาย โครงสร้าง ขนาด การจัดวาง และตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ที่กำหนดไว้ในหมวดต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอื่นที่ได้รับการยอมรับทั่วไปและกรมโยธาธิการและผังเมืองเห็นชอบ
– ปรับปรุงข้อ 6 ของกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2548 ที่กำหนดให้ป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ต้องมีความชัดเจนและมองเห็นได้ในเวลากลางวันและกลางคืน โดยระบุเพิ่มว่า “สัมผัสและรับรู้ได้”
– ปรับปรุงเรื่องระดับพื้นที่มีความต่างระดับที่ต้องทางลาดหรือปาดมุม (ข้อ 7) จากเดิมที่กำหนดให้มีทางลาดเมื่อต่างระดับกันเกิน 20 มม. หรือปาดมุม 45 องศาหากต่างระดับกันไม่เกิน 20 มม. แก้ไขเป็น ให้มีทางลาดเมื่อต่างระดับกันเกิน 1.3 ซม. หรือปาดมุม 1:2 หากต่างระดับกันตั้งแต่ 6.4 มม. แต่ไม่เกิน 1.3 ซม.
– ปรับปรุงลักษณะของทางลาด (ข้อ 8) เช่น ไม่บังคับว่าทางลาดที่มีความยาวตั้งแต่ 6 เมตร จะต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร แต่ให้กรณีทางลาดแบบสองทางสวนกันมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร, ทางลาดที่ไม่มีผนังกั้นให้ยกขอบสูง 10 ซม. และต้องมีราวจับและราวกันตก (เดิม 5 ซม. และมีราวกันตก), ทางลาดที่มีความยาวตั้งแต่ 1.80 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับทั้งสองด้าน (เดิม 2.50 เมตรขึ้นไป) และทางลาดที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับห่างไม่เกิน 1.50 เมตร (เดิมไม่ได้กำหนด), ความสูงของราวจับ 75-90 ซม. (เดิม 80-90 ซม.), ราวจับด้านที่อยู่ติดผนังให้มีระยะห่างจากผนังไม่น้อยกว่า 4 ซม. (เดิม 5 ซม.) และมีความสูงจากจุดยึดไม่น้อยกว่า 10 ซม. (เดิม 12 ซม.), ยอมให้ราวจับไม่ต้องยาวต่อเนื่องกันได้แต่ต้องมีระยะห่างไม่เกิน 5 ซม.
– ปรับปรุงลักษณะของลิฟต์ที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราใช้ได้ (ข้อ 10) เช่น ปรับขนาดของห้องลิฟต์เป็น 1.40 x 1.60 ม. หรือ 1.60 x 1.40 ม. (เดิม 1.10 x 1.40 ม.) และเพิ่มกำหนดความสูงไม่น้อยกว่า 2.30 ม. และมีช่องกระจกใสนิรภัยที่สามารถมองเห็นระหว่างภายนอกและภายในได้ ขนาดไม่น้อยกว่า 0.20 x 0.80 ซม. และสูงจากพื้นไม่เกิน 1.10 ม., เพิ่มต้องมีระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและระบบพัดลมระบายอากาศซึ่งสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ในกรณีระบบไฟฟ้าปกติหยุดทำงาน
– ปรับปรุงลักษณะของบันได (ข้อ 11) เช่น ไม่กำหนดเรื่องความกว้างสุทธิและชานพักบันได, ให้มีราวบันไดทั้งสองข้างเมื่อมีความต่างระดับกันตั้งแต่ 60 ซม.ขึ้นไป, ปรับปรุงขนาดลูกตั้งลูกนอนของขั้นบันไดเป็น ลูกตั้งสูงไม่เกิน 18 ซม. และผลรวมของลูกตั้งกับลูกนอนไม่น้อยกว่า 43 ซม. (เดิมไม่เกิน 15 x 28 ซม.), ลูกตั้งอาจเป็นช่องโล่งได้หากลูกนอนบันไดยกขอบด้านในสูงไม่น้อยกว่า 5 ซม. (เดิมเป็นช่องโล่งไม่ได้)
– ปรับปรุงอัตราส่วนจำนวนที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราที่ต้องจัดให้มี (ข้อ 12)
– ไม่บังคับว่าที่จอดรถสำหรับผู้พิการฯ จะต้องไม่ขนานกับทางเดินรถ และป้ายแสดงที่จอดรถอาจติดตั้งบนผนังของช่องจอดรถก็ได้ โดยให้อยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร
– ไม่กำหนดขนาดของที่จอดรถสำหรับผู้พิการฯ โดยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 41 (พ.ศ. 2537)
– ปรับปรุงลักษณะของประตู (ข้อ 18) ธรณีประตูหากมีความสูงต้องไม่เกินกว่า 1.3 ซม. (เดิม 2 ซม.), ช่องประตูต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 86 ซม. (เดิม 90 ซม.)
– ปรับปรุงลักษณะของห้องส้วม (ข้อ 21) ความสูงของโถส้วมชนิดนั่งราบ สูงจากพื้น 40-45 ซม. (เดิม 45-50 ซม.)
– ที่ถ่ายปัสสาวะสำหรับผู้ชายในห้องส้วมที่มิใช่ห้องส้วมสำหรับผู้พิการฯ (ข้อ 23) ให้มีระดับสูงจากพื้นไม่เกิน 40 ซม. อย่างน้อย 1 ที่ และมีราวจับ (เดิมให้มีระดับเสมอพื้น และกำหนดรายละเอียดของราวจับ)
– ปรับปรุงเรื่องพื้นผิวต่างสัมผัส (ข้อ 25) โดยแบ่งเป็น พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือนที่พื้น และ พ้นผิวต่างสัมผัสชนิดนำทาง
– หมวด 9 ซึ่งเดิมเป็นข้อกำหนดสำหรับ โรงมหรสพ หอประชุม และโรงแรม เปลี่ยนชื่อหมวดเพื่อให้ครอบคลุมถึง ศาสนสถานหรือฌาปนสถาน และอาคารประเภทและลักษณะอื่น
– ปรับปรุงอัตราส่วนพื้นที่สำหรับเก้าอี้ล้อต่อจำนวนที่นั่งในโรงมหรสพหรือหอประชุม (ข้อ 26)
– ปรับปรุงอัตราส่วนจำนวนห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการฯต่อจำนวนห้องพักทั้งหมด ในโรงแรม (ข้อ 27) และเพิ่มข้อ 27/1 กำหนดส่วนประกอบและลักษณะของห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการฯ
– เพิ่มเติมในหมวด 9 เป็นข้อ 28/1 ข้อ 28/2 และข้อ 28/3 เพื่อเป็นข้อกำหนดสำหรับอาคารตามข้อ 3 ที่เป็น ศาสนสถานหรือฌาปนสถาน, อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด หรือหอพัก, อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ตามลำดับ

ดาวน์โหลด: cba\mr\mr64(02)-68c.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn