บริเวณห้ามก่อสร้างป้ายในกรุงเทพมหานคร
15 มกราคม 2568
กรุงเทพมหานครออก “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารประเภทป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายในพื้นที่บางส่วน ในท้องที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 เพื่อใช้บังคับแทนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับเดิม พ.ศ. 2549
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับนี้ยังคงแนวทางเช่นเดิมในการควบคุมการก่อสร้าง ดัดแปลง ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายในกรุงเทพมหานคร ตามแนวทางพิเศษ ทางรถไฟ ถนนสายต่างๆ แม่น้ำเจ้าพระยา และโดยรอบอนุสาวรีย์บางแห่ง โดยมีความแตกต่างจากข้อกำหนดในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับเดิม ได้แก่
บริเวณที่ 3 พื้นที่ภายในเขตถนนและในระยะ 50 เมตรจากเขตทางทั้งสองฟากของถนน จากเดิม 106 สาย ลดลงเหลือ 64 สาย โดยมีสายที่เพิ่มขึ้น 1 สาย คือ (24) ถนนเทพรักษ์ ตั้งแต่ถนนพหลโยธินไปจนบรรจบถนนสุขาภิบาล 5 และสายที่ไม่มีอยู่ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับใหม่แล้ว 43 สาย อาทิเช่น ถนนกัลปพฤกษ์ ถนนกาญจนาภิเษก ถนนบรมราชชนนี ถนนบางนา-ตราด ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนพระรามที่ 2 ถนนพระรามที่ 3 ถนนพระรามที่ 4 ถนนพระรามที่ 6 ถนนพระรามที่ 9 ตัดใหม่ ถนนพุทธมณฑลสาย 1 สาย 2 และสาย 3 ถนนเพชรเกษม ถนนราชพฤกษ์ ถนนรามอินทรา ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนศรีนครินทร์ ถนนสุวินทวงศ์ เป็นต้น (ดูรายละเอียดในรายการประกอบแผนที่ท้ายข้อบัญญัติฯ)
บริเวณที่ 4 เดิมกำหนดพื้นที่ภายในรัศมี 200 ม. จากจุดศูนย์กลางของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แก้ไข เพิ่มรัศมีเป็น 300 เมตรเฉพาะสำหรับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และไม่กำหนดแล้วสำหรับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ส่วนบริเวณที่ 1, 2, 5 ยังคงเดิมทั้งระยะจากเขตทางพิเศษ เขตทางรถไฟ เขตแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งรายชื่อทางพิเศษและทางรถไฟ
เพิ่มป้ายที่ได้รับยกเว้น ได้แก่ ป้ายที่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจจัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และ ป้ายสถานีบริการน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และก๊าซธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังมีบทเฉพาะกาลสำหรับป้ายที่มีอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2558 ใช้บังคับ ให้สามารถยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับนี้ใช้บังคับ โดยต้องแสดงหลักฐานที่แสดงได้ว่าเป็นป้ายฯที่มีอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงใช้บังคับจริง เช่น ใบรับรองการตรวจสอบอาคารตามมาตรา 32 ทวิ หลักฐานการเสียภาษีป้ายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหลักฐานอื่นๆ และจะต้องมีหนังสือรับรองการตรวจสอบโครงสร้างป้ายของวิศวกรโยธา ระดับวุฒิวิศวกร ว่ามีความมั่นคงแข็งแรงเสนอพร้อมคำขออนุญาตด้วย เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะพิจารณาอนุญาตโดยใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะ ขนาด ระยะ ความสูง แนวร่น และพื้นที่ ตามที่กฎหมายกำหนดในขณะที่ก่อสร้างป้ายนั้น
ดาวน์โหลด: cba/bb67.pdf