มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์
17 มี.ค. 2568
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออก “ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2568” เพื่อใช้แทนฉบับเดิม พ.ศ. 2561 ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้มีอายุใช้บังคับ 5 ปี ตั้งแต่ 18 มี.ค. 2568 ถึง 17 มี.ค. 2573 มีเนื้อหาที่ได้ปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมในรายละเอียดบางอย่างจากฉบับเดิม พอสรุปเฉพาะในส่วนที่ที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร ดังนี้
พื้นที่ควบคุมที่อยู่บนแผ่นดิน บริเวณที่ 1 ถึงบริเวณที่ 6 ยังคงเดิม
สำหรับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารประเภทต่าง มีการเปลี่ยนแปลง เช่น
– โรงงาน เดิมห้ามแต่กำหนดจำพวกของโรงงานที่ยกเว้น ในประกาศกระทรวงฉบับใหม่ไม่ได้ห้าม แต่กำหนดว่าต้องจัดให้มีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และต้องมีที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างตามกฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายการผังเมือง และมีพื้นที่สีเขียวซึ่งมีไม้ยืนต้นเป็นองค์ประกอบหลักไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่น้ำซึมผ่านได้
– อาคารเลี้ยงสัตว์ยังคงห้ามที่มีพื้นที่เกิน 10 ตารางเมตรและอาคารเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า ส่วนฌาปนสถาน และสุสาน ซึ่งเดิมห้ามแต่กำหนดหลักเกณฑ์การยกเว้นนั้น ในประกาศกระทรวงฉบับใหม่ไม่ได้ห้ามแล้ว
– อู่ต่อเรือ เดิมห้าม เปลี่ยนเป็นห้ามโดยยกเว้นอู่เรือเฉพาะที่ให้บริการซ่อมหรือซ่อมบำรุงเรือ หรือให้บริการติดตั้งหรือซ่อมเครื่องเรือหรืออุปกรณ์การเดินเรือสำหรับเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส
หลักเกณฑ์สำหรับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร มีการเปลี่ยนแปลง เช่น
– ข้อกำหนดที่ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารภายในระยะ 6 เมตรจากริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่บริเวณที่ 2, 3 และ 4 และภายในระยะ 12 เมตรจากแนวโดยรอบคันขอบอ่างเก็บน้ำเขาเต่าในพื้นที่บริเวณที่ 4 ไม่ปรากฏในประกาศกระทรวงฉบับใหม่แล้ว
– ในกรณีที่ไม่ใช่กรณีที่ต้องห้าม หลักเกณฑ์ในการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ในพื้นที่ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินในระยะ 50 เมตรและ 150 เมตรในบริเวณที่ 1, 2 และ 3 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนที่แตกต่างไปจากเดิมคือ การก่อสร้างหรือดัดแปลงในบริเวณที่มีความลาดชันเกินร้อยละ 35 ซึ่งเดิมห้าม เปลี่ยนเป็นห้ามในลักษณะที่ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ส่วนข้อกำหนดสำหรับพื้นที่บริเวณที่ 4, 5 ในพื้นที่ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินจนถึงระยะ 500 เมตร ไม่มีการกำหนดแล้ว
– สำหรับหลักเกณฑ์การวัดความสูงของอาคาร มีการเปลี่ยนแปลงจากการวัดขึ้นไปถึงส่วนที่สูงสุดของอาคาร เป็น ให้วัดถึงพื้นดาดฟ้า ส่วนอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยายังคงให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุดเช่นเดิม นอกจากนี้ยังกำหนดด้วยว่า การวัดความสูงของอาคารในบริเวณที่มีกฎหมายกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร
โครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น มีการปรับเปลี่ยน ได้แก่
– โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด แก้จาก จำนวนห้องพัก 30-79 ห้อง หรือมีพื้นที่ใช้สอยทุกอาคารรวมกัน 1,500-4,000 ตารางเมตร เป็น 50-79 ห้อง หรือ 2,500-4,000 ตารางเมตร (มีการผ่อนคลายมาโดยลำดับจากเดิมที่กำหนด 10-79 ห้อง หรือ 500-4,000 ตารางเมตรในปี 2553)
– กิจการที่นำบ้านพักอาศัยไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรม ไม่ปรากฏแล้ว (เข้าใจว่าคงเนื่องจากประเภทโรงแรมข้างต้นครอบคลุมอยู่แล้ว)
– โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืน 10-59 เตียง เพิ่มหากเป็นกรณีตั้งตั้งอยู่ใกล้ฝั่งทะเลหรือชายหาด ในระยะ 50 เมตร ที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน 10-29 เตียง
– ไม่ได้กำหนดแล้วสำหรับ สถานที่ที่ใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณในการกำจัดไม่เกิน 50 ตันต่อวัน
สำหรับโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการปรับเปลี่ยน ได้แก่
– เพิ่ม โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยทุกอาคารรวมกันตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป
– กิจการที่นำบ้านพักอาศัยไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรม ไม่ปรากฏแล้ว (เข้าใจว่าคงเนื่องจากประเภทโรงแรมข้างต้นครอบคลุมอยู่แล้ว)
ดาวน์โหลดประกาศกระทรวง eqa/ma68-02.pdf