มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สมุย-พะงัน

มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สมุย-พะงัน
21 พ.ค. 2568

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออก “ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย และตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2568” เพื่อใช้แทนฉบับเดิม พ.ศ. 2557 ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้มีอายุใช้บังคับ 5 ปี ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2568 ถึง 21 พฤษภาคม 2573 มีเนื้อหาที่ได้ปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมในรายละเอียดบางอย่างจากฉบับเดิม พอสรุปเฉพาะในส่วนที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร ดังนี้

ในประกาศกระทรวงฯฉบับใหม่ยังคงจำแนกบริเวณออกเป็น 7 บริเวณ โดยมีการปรับเปลี่ยนบริเวณของเกาะบางเกาะ ได้แก่ เกาะส้ม เกาะฟานใหญ่ อำเภอเกาะสมุย และเกาะม้า เกาะแตใน อำเภอเกาะพะงัน ย้ายจากบริเวณที่ 5 ไปอยู่บริเวณที่ 4 และเกาะฟานน้อย อำเภอเกาะสมุย ย้ายจากบริเวณที่ 6 ไปอยู่บริเวณที่ 4 (ดูรายละเอียดในประกาศกระทรวงฯ)

ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉบับนี้มีหลักเกณฑ์ข้อกำหนดที่ผ่อนคลายลงจากประกาศฉบับเดิม พ.ศ. 2557 ในส่วนที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร มีข้อกำหนดเฉพาะที่แตกต่างไปจากเดิม ที่น่าสนใจ ดังนี้
– บริเวณที่ 2 เพิ่มข้อกำหนดให้โรงแรมและอาคารอยู่อาศัยรวมต้องจัดให้มีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างตามกฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายการผังเมือง แล้วแต่กรณี โดยมีไม้ยืนต้นเป็นองค์ประกอบหลัก
– บริเวณที่ 3 เดิมกำหนดว่าขนาดแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 100 ตารางวา และต้องจัดให้มีการหน่วงน้ำหรือท่อที่สามารถลดอัตราการระบายน้ำออกสู่สาธารณะเพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือน้ำหลาก อยู่ด้วย ในประกาศฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดแล้ว และในบริเวณที่ 3(2) (พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า 140 เมตรขึ้นไปในเกาะสมุยและเกาะพะงัน) เดิมกำหนดให้พื้นที่คลุมดินสูงสุดไม่เกิน 90 ตารางเมตรต่อหลัง ในประกาศฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดแล้ว
– บริเวณที่ 4 เดิมกำหนดให้โรงแรม สร้างได้ไม่เกิน 50 ห้องในแต่ละโครงการ ในประกาศฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดแล้ว
– บริเวณที่ 7(1) พื้นที่เกาะเต่าที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน 80 เมตร เดิมกำหนดระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 10 เมตร และความสูงไม่เกิน 6 เมตร และพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 80 เมตรขึ้นไป เดิมกำหนดเรื่องความสูงไม่เกิน 6 เมตร พื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และให้มีการหน่วงน้ำฯ ในประกาศฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดแล้ว
– บริเวณที่ 7(1) พื้นที่เกาะนางยวน (เกาะหางเต่า) เดิมกำหนดทั้งเรื่องระยะห่างจากแนวชายฝั่ง ความสูง พื้นที่ว่าง พื้นที่สีเขียว ในประกาศฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดแล้ว

สำหรับหลักเกณฑ์การก่อสร้าง ดัดแปลง เปลี่ยนการใช้อาคารในพื้นที่ที่มีความลาดชัน เดิมห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารใดๆ ในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 50 ในบริเวณที่ 2, 3, 4 และบริเวณ 7(1) ในประกาศฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดห้ามแล้ว โดยให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับพื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ 35 ขึ้นไป และมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด ดังนี้
– บริเวณที่ 2, 3 และ 4 ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ 35 ขึ้นไป สำหรับอาคารที่เป็นบ้านเดี่ยวหรืออาคารเดี่ยว เดิมกำหนดขนาดแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 120 ตารางวา ในประกาศฉบับใหม่ไม่บังคับ แต่แยกข้อกำหนดเป็น 2 กรณี
– กรณีขนาดแปลงที่ดินมีเนื้อที่มากกว่า 100 ตารางวา เดิมกำหนดมีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน 80 ตารางเมตร ในประกาศฉบับใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 90 ตารางเมตร เดิมต้องมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของแปลงที่ดิน ในประกาศฉบับใหม่ไม่ได้กำหนด แต่กำหนดให้มีที่ว่างที่น้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของที่ดิน
– กรณีขนาดแปลงที่ดินมีเนื้อที่น้อยกว่า 100 ตารางวา ซึ่งเดิมทำไม่ได้ ในประกาศฉบับใหม่ให้ทำได้ แต่ต้องมีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน 70 ตารางเมตร มีที่ว่างที่น้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของที่ดิน และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างตามกฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายการผังเมือง แล้วแต่กรณี โดยมีไม้ยืนต้นเป็นองค์ประกอบหลัก

โครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น มีการปรับเปลี่ยน เช่น
– โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม หรืออาคารชุด ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 50 ห้อง (เดิมตั้งแต่ 10 ห้อง) ถึง 79 ห้อง หรือมีพื้นที่ใช้สอยของทุกอาคารดังกล่าวรวมกันตั้งแต่ 2,500 ตารางเมตร (เดิมตั้งแต่ 500 ตารางเมตร) แต่ไม่ถึง 4,000 ตารางเมตร
– โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืน 10-59 เตียง เพิ่ม หากเป็นกรณีตั้งอยู่ใกล้ฝั่งทะเลหรือชายหาด ในระยะ 50 เมตร ที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน 10-29 เตียง
– การจัดสรรที่ดิน ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ 100 แปลง แต่ไม่ถึง 500 แปลง หรือมีเนื้อที่ตั้งแต่ 19 ไร่ แต่ไม่เกิน 100 ไร่ (เดิมไม่ได้กำหนดเกณฑ์ต่ำ)
– ท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา ที่รองรับเรือได้ตั้งแต่ 5 ลำ (เดิม 10 ลำ) แต่ไม่ถึง 50 ลำ หรือมีพื้นที่รวมตั้งแต่ 100 ตารางเมตร แต่ไม่ถึง 1,000 ตารางเมตร

สำหรับโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการปรับเปลี่ยน ได้แก่
– เพิ่ม โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยทุกอาคารรวมกันตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป

ดาวน์โหลดประกาศกระทรวง: eqa/ma68-08.pdf

 

Facebook
Twitter
LinkedIn