เจาะลึกประเด็นป้อมมหากาฬ – สะพานเกียกกาย กับนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

MAY-JUNE 2017 – ISSUE 04 ASACREW JOURNAL

เกิดอะไรขึ้นกับชุมชนป้อมมหากาฬ เขาประท้วงกันทำไม สะพานเกียกกายมีประเด็นอะไรให้ต้องสนใจ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์มีจุดยืนอย่างไรกับสองโครงการนี้ asaCrew ฉบับนี้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้ติดตามและเข้าร่วมประชุมทั้งสองโครงการนี้มาโดยตลอด เพื่อขอทราบถึงที่มาที่ไปและเบื้องหลังเบื้องลึกที่หลายคนอาจยังไม่รู้ และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนป้อมมหากาฬแห่งนี้มีหลักฐานบ่งชี้การตั้งถิ่นฐานชุมชนเก่าบริเวณตามแนวกำแพงเมืองกรุงรัตนโกสินทร์กว่า 100 ปีที่ยังคงเหลืออยู่

asaCrew : ก่อนอื่นอยากขอให้อาจารย์ช่วยเล่าที่มาคร่าวๆ เรื่องป้อมมหากาฬให้ฟังสักนิดครับ
อ.อัชชพล : ประเด็นนี้เป็นเรื่องของที่ดินประมาณ 5 ไร่บริเวณป้อมมหากาฬที่ถูกโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานครในปี 2503 ต่อมาในปี 2535 รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือเพื่อรื้อย้ายอาคารบ้านเรือนซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยบริเวณป้อมมหากาฬนั้นมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และเป็นตัวอย่างสุดท้ายที่เราจะได้เห็นโบราณสถานอยู่คู่กับชุมชน การรื้อถอนจึงเป็นเหมือนการทำลายประวัติศาสตร์ ซึ่งทางสมาคมฯ เห็นว่าควรอนุรักษ์ไว้เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่ก็ยังสามารถทำเป็นพื้นที่สาธารณะได้ตามเจตจำนงเดิม

asaCrew : ทำอย่างไรครับ

อ.อัชชพล : ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ เสนอให้ทำเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” ในรูปแบบมรดกวัฒนธรรมที่ยั่งยืน เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมและศึกษาวิถีชุมชนพื้นถิ่นของป้อมมหากาฬ เรื่องนี้ต้องเริ่มเล่าจากที่อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านได้ลงพื้นที่ป้อมมหากาฬเพื่อสำรวจคุณค่าของชุมชน พบว่าในจำนวนบ้านทั้งหมด 102 หลัง มีบ้านโบราณทรงคุณค่าถึง 16 หลัง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จำนวน 2 หลัง และ อีก 14 หลังสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ซึ่งเทคนิคและเชิงช่างไทยของยุคนั้นเลือนหายไปมากแล้วในปัจจุบัน สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่นี้ควรจะรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

หลังจากนั้นทางสมาคมฯ ก็ได้ส่งทีมลงไปสำรวจเพิ่มเติม พบว่ามีอาคารที่ควรอนุรักษ์เพิ่มเติมอีก 8 หลัง เพราะเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 8 ถึงรัชกาลที่ 9 รวมแล้วควรอนุรักษ์ไว้ 24 หลัง ในระหว่างนั้น ทางสมาคมฯ ได้ส่งทีม VERNADOC นำโดย ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว เข้าไปเก็บบันทึกในรูปแบบงานเขียนเชิงอนุรักษ์ รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการและตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬอย่างเป็นรูปธรรมของกรุงเทพ-มหานคร ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี โดยมีคุณยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง) เป็นประธาน ซึ่งต้องชื่นชมว่าคุณยุทธพันธ์เป็นผู้ที่เข้าใจในปัญหา และเล็งเห็นถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้เป็นอย่างดี

แนวทางการพัฒนาตามกระบวนการ Co-creation
ผังบริเวณพิพิธภัณฑ์ประวัตศาสตร์ที่มีชีวิต (Living Museum) ชุมชนป้อมพระกาฬ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

1. ป้อมมหากาฬ      2. อาคารอนุรักษ์
3. ระเบียงริมน้ำ       4. บานอเนกประสงค์
5. ลานกิจกรรม        6. บ้านไม้โบราณ เรือนไทยเดิมใต้ถุนสูง สมัยก่อนรัชกาลที่ 5
7. บ้านไม้โบราณ เรือนไทยอิทธิพลตะวันตก สมัยรัชกาลที่ 5-7  8. บ้านไม้ร่วมสมัย สมันรัชกาลที่ 9

 

เมื่อได้ข้อสรุปจากการรับฟังปัญหาแล้ว อาจารย์ยงธนิศร์ พิมลเสถียร อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอว่าเราไม่ควรมองแต่ตัวอาคารบ้านเรือนเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานด้วย ซึ่งทางสมาคมฯ ก็ได้เสนอเพิ่มเติมว่าไม่ควรมองเรื่องนี้จบแค่พื้นที่ 5 ไร่ แต่ควรเชื่อมโยงไปถึงเครือข่ายชุมชนใกล้เคียง ทั้งวัดราชนัดดาราม ถนนบริพัตร ถนนมหาไชย และถนนราชดำเนิน เพื่อสร้างทั้งชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยให้กลุ่มอาคารอนุรักษ์ในพื้นที่และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าศึกษาเยี่ยมชม คือรื้อถอนบ้านออกบางส่วน เหลือเพียง 24 หลังที่ควรค่าอนุรักษ์ไว้ แล้วค่อยเติมอาคารประกอบบางอย่างลงไป รวมถึงการสร้างสะพานข้ามคลอง เพื่อเชื่อมต่อไปยังภูเขาทอง หรือมีกิจกรรมการปลูกพืชผักสวนครัว ให้เห็นการใช้ชีวิตในแบบพื้นถิ่น คือไม่ใช่มีเพียงอาคารทิ้งร้าง แต่ควรให้มีคนอยู่อาศัยจริง เพื่อให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เพียงแต่ผู้อยู่อาศัยในอาคารอนุรักษ์ต้องอยู่ในกรอบกติกาว่า อะไรทำได้ อะไรทำ ไม่ได้ เช่น ห้ามต่อเติมหรือทำลายอาคารนั้น เป็นต้น

เรื่องลักษณะนี้สมาคมฯ มองว่า ทางกรุงเทพมหานครหรือภาครัฐควรเลิกการทำลาย รื้อถอน เปลี่ยนสภาพ สิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อทุบทิ้งไปแล้วไม่สามารถสร้างทดแทนได้ อย่างที่เคยผิดพลาดมาแล้วในอดีต

asaCrew : ขอถามไปถึงอีกโครงการหนึ่ง นั่นคือ โครงการสะพานเกียกกาย ทางสมาคมฯ มีความเกี่ยวข้องอย่างไร และความคืบหน้าตอนนี้เป็นอย่างไรแล้วครับ

อ.อัชชพล : สำหรับเรื่องนี้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงาน ซึ่งมี พลเอกอนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุม เบื้องต้นกรมโยธาธิการและผังเมืองได้มอบหมายให้ทางกรุงเทพมหานครเป็นผู้สร้างสะพานเกียกกายขึ้นในบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านเกียกกายใกล้ทำเลที่ตั้งอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เพื่อแก้ปัญหาจราจรที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปิดใช้รัฐสภาแห่งใหม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้เสนอโมเดลตามข้อเสนอเดิมของ กทม. รวมทั้งข้อเสนอของสมาคมสถาปนิกสยามฯอีก 3 ทางเลือก
ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุม

ความจริงแล้วนโยบายการสร้างสะพานเกียกกายเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกที่ตั้งอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แต่ในระหว่างที่มีการจัดประกวดแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้ ทางคณะจัดการทำเรื่องขอทราบแนวของสะพานเกียกกายซึ่งอาจจะมีผลกระทบ แต่ขอไปกี่ทีก็ไม่มีคำตอบ จนกระทั่งคณะกรรมการได้แบบที่ชนะการประกวด แล้วก็ทำแบบก่อสร้าง จากนั้นก็เริ่มสร้างไปได้ราว 20 เปอร์เซ็นต์

 

ทางสมาคมสถาปนิสยามฯ ก็ได้รับเชิญเข้าร่วมรับฟัง ซึ่งทางเราก็ได้ให้ความเห็นไปว่า ถ้าสะพานเกียกกายใช้แนวทางตามแบบที่กรุงเทพมหานครเสนอมานั้น จะเป็น การทำลายมากกว่าส่งเสริมความสง่างามของอาคารรัฐสภา สาเหตุเพราะถนนทางเข้าของรัฐสภา รวมถึงเส้นทางเสด็จจะถูกคร่อมด้วยสะพานเกียกกาย ลักษณะคล้ายถนนสุขุมวิทที่มีรถไฟฟ้าคร่อมไปตลอดสาย จึงมีปัญหาต่อทัศนียภาพของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทำให้ทางเข้าอาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นอาคารที่มีความสำคัญระดับชาติขาดความสง่างาม

 

 

 

ทางสมาคมฯ ได้ขออนุญาตท่านประธานไปทำการวิเคราะห์และนำเสนอทางออกอื่นๆ ที่เหมาะสม โดยข้อเสนอของสมาคมฯ มี 3 ทางเลือก
ข้อเสนอที่ 1 คือ ขอให้ไม่มีทางขึ้นลงตรงบริเวณอาคารรัฐสภา เพื่อให้สะพานมีขนาดแคบที่สุด
ข้อเสนอที่ 2 คือ จากสี่แยกเกียกกายปรับแบบให้สะพานปัดตั้งฉากกับอาคารรัฐสภา ซึ่งจะเขยิบสะพานออกมาห่างอาคารรัฐสภาประมาณ 70 เมตร
ข้อเสนอที่ 3 คือ เบี่ยงแนวสะพานอ้อมไปทางคลองบางซื่อ

หลังจากการพิจารณาร่วมกันแล้ว ท่านอนุพงษ์ได้เลือกข้อเสนอที่ 2 พร้อมทั้งมอบหมายให้ทางกรุงเทพมหานครทำการศึกษาผลกระทบซึ่งอาจเกิดขึ้้นกับโบราณสถานหรืออาคารสำคัญอื่นๆ ที่แนวสะพานใหม่พาดผ่านได้

               

 

 

ข้อเสนอที่ 1                                           ข้อเสนอที่ 2                                    ข้อเสนอที่ 3 

ข้อสรุปที่ทางรัฐบาลเห็นชอบว่ามีความเหมาะสม คือ แนวทาง “สะพานที่เบี่ยงขนานไปกับอาคารรัฐสภา” ตามข้อเสนอที่ 2 ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ