AUSTRALIAN EMBASSY สถานทูตออสเตรเลีย : สถาปัตยกรรมสีเหลืองทองบนถนนสาทรที่กำลังจะกลายเป็นอดีต

MAY-JUNE 2017 – ISSUE 04 ASACREW JOURNAL

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สัญจรไปมาบนถนนสาทร เราเชื่อว่าคุณต้องเคยสะดุดตาอาคารสีเหลืองทองทรง โมเดิร์น อันเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ซึ่งอยู่คู่ถนนสายนี้มายาวนานกว่า 38 ปี และเร็วๆ นี้ สถานที่แห่งนี้กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับตัวสอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

 

ข่าวการย้ายสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย และการเตรียมพร้อมย้ายไปยังที่ทำการใหม่ในย่านสวนลุมพินี ด้วยเหตุผลด้านการประเมินพื้นที่ของรัฐบาลออสเตรเลีย ถึงตัวอาคารที่มีอายุยาวนาน รวมไปถึงการประเมินความเหมาะสมกับความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต ได้สร้างความสนใจไม่น้อยในหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวออนไลน์ รวมไปถึงวงการอสังหาริมทรัพย์ เมื่อกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียได้ประกาศขายที่ดินบนถนนสาทร เนื้อที่ประมาณ 7.5 ไร่

asaCrew ร่วมเก็บบันทึกความทรงจำ รวมไปถึงจดบันทึกความรู้ทางสถาปัตยกรรมในครั้งนี้ นำโดยทีมอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และน้องๆ นักศึกษา โดยได้รับการต้อนรับพร้อมเปิดบ้านพักอันแสนอบอุ่นของคุณฮานาน โรบิลลิอาร์ด ภริยาเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย สถานทูตแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดย Mr.Ken Woolley สถาปนิกชั้นนำของออสเตรเลียในขณะนั้น และมีสถาปนิกที่ปรึกษาชาวไทยคือ หม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล โดยผสมผสานการออกแบบในยุค 70s ร่วมกับความเป็นไทยไว้ด้วยกัน นำแรงบันดาลใจจากแม่น้ำลำคลองในกรุงเทพฯ บ้านไทยที่ยกใต้ถุนสูง รวมไปถึงสีเหลืองทอง อันเป็นแรงบันดาลใจจากวัดไทย การก่อสร้างมีขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2518 และมีพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2523

ในบทบาทของสถาปนิก Mr.Ken Woolley ได้เข้ามาดูพื้นที่ และพบว่าบริเวณของถนนสาทรเมื่อ 38 ปีก่อนนั้น มีปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี หากแก้ปัญหาด้วยการถมที่ดินลงไปจะทำให้ที่ดินรอดจากการถูกน้ำท่วม แต่จะส่งผล กระทบนำ้ท่วมไปยังที่อื่นแทน ระหว่างนั้นเอง Mr.Ken Woolley ได้ไปเยี่ยมชมวังสวนผักกาดร่วมกับหม่อมหลวงตรีทศยุทธ จึงนำแนวคิดไทยในการออกแบบ การใช้น้ำในภูมิสถาปัตยกรรมเพื่อสร้างเอกลักษณ์อันโดดเด่นให้กับสถานที่มาปรับใช้ นอกจากช่วยเสริมความปลอดภัยให้กับสถานที่แล้ว ยังช่วยรองรับนำ้ท่วมได้อีกด้วย

 

อาคารสถานทูต โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม
การจัดแปลนของสถานทูตฯ เป็นรูปสี่เหลี่ยมกลวงโดยมีด้านหน้าเป็นถนนสาทร และมีบ้านพักท่านทูตอยู่ด้านหลัง ตำแหน่งของอาคารทั้งสองจัดวางโดยคำนึงถึงการรักษาต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยมีหินชนวนจากสัตหีบและพัทยาปูเชื่อมทางระหว่างสองอาคารนี้ด้วยกันโครงสร้างของอาคารที่ทำการสถานทูตฯ เป็นคอนกรีตใช้คานมุมทแยง เพื่อช่วยรองรับการกระจายน้ำหนักของพื้นที่ มีช่วงเสากว้าง 12×12 เมตร พื้นผิวด้านหน้าของอาคารรวมทั้งตัวเสาปิดทับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองจากโรงงานที่ลำปางอันเป็นแรงบันดาลใจจากวัดไทย ด้านบนตัวอาคารโดดเด่นด้วยพื้นที่ระเบียง Grey Space สร้างร่มเงาด้วยต้นไม้ ทำให้สถานที่มีความร่มรื่นเย็นสบาย โดยสวนได้รับการออกแบบจาก Mr.Bruce Mackenzie ผู้ก่อตั้งสถาบันภูมิสถาปนิกแห่งออสเตรเลีย


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บ้านพักท่านทูต บนแนวคิด “Outside In”
อาคารสองชั้นที่โดดเด่นด้วยผิวกระเบื้องเคลือบสีเหลืองทอง จุดเด่นคือการนำวัสดุจากธรรมชาติเข้ามาหลอมรวมเป็นองค์ประกอบเดียวทั้งพื้นไม้ ประตูไม้ ฝ้าเพดานไม้สถาปนิกออกแบบโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการอยู่อาศัย รวมถึงการจัดลำดับความเป็นส่วนตัวในห้องโถงแต่ละชั้น เมื่อเข้าไปจะพบกับโซนแรกคือส่วนของห้องทำงาน ถัดมาโซนที่สองคือโถงต้อนรับด้านหน้า โซนที่สามคือพื้นที่ต้อนรับแขกคนสำคัญผ่านห้อง Living Roomโดดเด่นด้วยกระจกบานใหญ่ เพื่อรับแสงธรรมชาติและลดการใช้พลังงานนับเป็นดีไซน์ที่ร่วมสมัยมากที่เกิดขึ้นเมื่อ38 ปีก่อน และโซนด้านในสุดเพื่อรองรับแขกพิเศษในห้องรับประทานอาหาร โดดเด่นด้วยกระจกทรงโค้งสไตล์โมเดิร์นเมื่อมองออกไปจะพบกับต้นไม้น้อยใหญ่ในสวนเขียวขจีรวมไปถึงสระน้ำที่ได้รับการออกแบบให้ครบวงจรระบบนิเวศ มีทั้งปลาและเต่า ทั้งนี้สีประจำชาติของออสเตรเลียคือสีเขียวและทองด้วยเช่นกัน

บ้านพัก ฯพณฯ เอกอัครราชทูตเป็นสถานที่ที่ต้องการ
ความเป็นส่วนตัวสูง ระแนงบังสายตาจะช่วยทำให้บริเวณบ้านพักคงความเป็นส่วนตัวเมื่อมองจากภายนอก แต่ในขณะเดียวกันผู้อยู่ในอาคารก็สามารถมองเห็นเหตุการณ์ และความเคลื่อนไหวจากภายในได้เช่นกัน โดยผสานจากแนวคิด “Outside In”