กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย

กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย
6 ก.ย. 2564

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออก “กฎกระทรวงกำหนดอาคารที่ต้องทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย พ.ศ. 2564” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 และให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศ คือวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564

เป็นการยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการ ต้องทำการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก พ.ศ. 2548 และให้ใช้กฎกระทรวงฉบับใหม่นี้แทน โดยเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารให้เหมาะสม เพิ่มความคุ้มครอง ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกทั้งที่เกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอน และจากการเข้าใช้อาคารบางประเภท โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

กฎกระทรวงฉบับนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมอาคารโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 ซึ่งบัญญัติเพิ่ม (16) แห่งมาตรา 8 กำหนดให้สามารถออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคารหรือผู้ครองครองอาคารหรือผู้ดำเนินการต้องทำการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก จนมีการออกกฎกระทรวงกำหนดเรื่องดังกล่าวในปี พ.ศ. 2548 อย่างไรก็ดี กฎกระทรวงดังกล่าวแม้จะได้กำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่ต้องทำประกันภัยไว้แล้ว แต่ยังขาดสาระสำคัญที่จะทำให้สามารถปฏิบัติตามได้ ต่อมาจึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 บัญญัติเพิ่ม มาตรา 32 ตรี ให้เจ้าของ ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการ สำหรับอาคารชนิดหรือประเภทตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 (16) ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และจำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดในกฎกระทรวง จนกระทั่งออกกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้

ตามกฎกระทรวงฉบับนี้ ได้กำหนดชนิดหรือประเภทอาคารที่จะต้องทำประกันภัยโดยแยกเป็นในระหว่างการก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอน กับในระหว่างการใช้อาคาร ในระหว่างการก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอนอาคารนั้นจะเป็นการกำหนดให้ทำประกันภัยสำหรับอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งจะต้องจัดให้มีการประกันภัยก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ ส่วนในระหว่างการใช้อาคารจะเป็นการกำหนดให้ทำประกันภัยสำหรับ อาคารชุมนุมคน โรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป และป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูง 15 เมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งจะต้องจัดให้มีการประกันภัยตลอดระยะเวลาที่ใช้อาคาร

ชนิดและประเภทอาคารที่กำหนดตามกฎกระทรวงฉบับนี้มีความแตกต่างจากกฎกระทรวงฉบับเดิม พ.ศ. 2548 นอกจากการแยกเป็นสองกลุ่มตามชั้นตอนการก่อสร้างฯ และการใช้อาคารแล้ว ได้เพิ่มประเภท อาคารขนาดใหญ่ เข้ามาให้ทำประกันภัยในระหว่างการก่อสร้างฯ และตัดประเภท โรงมหรสพ ออกไปเนื่องจากมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำประกันภัยอยู่ในกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพฯ พ.ศ. 2550 แล้ว นอกจากนั้น ยังได้กำหนดจำนวนห้องพักสำหรับโรงแรมและพื้นที่อาคารสำหรับสถานบริการ (เดิมไม่ระบุจำนวนห้องพักและขนาดพื้นที่) การที่ได้แยกชนิดและประเภทอาคารออกเป็นสองกลุ่มโดยกลุ่มที่สองเป็นประเภทอาคารที่มีบุคคลภายนอกเข้าใช้อาคารมาก มีผลทำให้อาคารที่ก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้อาคารแล้วประเภทอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกลุ่มที่สอง หรืออาคารประเภทที่กำหนดแต่มีจำนวนห้องพักหรือขนาดพื้นที่ไม่เข้าข่าย ก็จะไม่ถูกบังคับให้ต้องทำประกันภัยตามกฎกระทรวงนี้

จำนวนเงินเอาประกันภัย กำหนด (1) สำหรับกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ จำนวนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคน และค่ารักษาพยาบาลไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคน รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาทต่อครั้ง และ (2) ความเสียหายต่อทรัพย์สิน จำนวนไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทต่อครั้ง

สำหรับอาคารที่ยังดำเนินการก่อสร้างฯไม่แล้วเสร็จและอาคารที่มีอยู่ก่อนแล้วในวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ต้องจัดให้มีการประกันภัยภายใน 30 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ จึงเท่ากับมีเวลา 90 วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ดาวน์โหลด: cba\mr\mr64-70c.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn