หลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

หลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
21 มิ.ย. 2566

สภาวิศวกรออกข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาต่างๆ รวม 7 ฉบับ สำหรับสาขาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และสาขาวิศวกรรมเคมี เพื่อใช้บังคับแทนข้อบังคับสภาวิศวกรฉบับเดิมที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551

ในสาขาวิศวกรรมโยธา คือ ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมโยธา พ.ศ. 2566 มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับ พ.ศ. 2551 เช่น
– ระดับสามัญวิศวกร เดิม สามารถประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้ทุกงาน ในทุกประเภทและขนาด ยกเว้นงานให้คำปรึกษา ในข้อบังคับฉบับใหม่ งานให้คำปรึกษา ให้ทำได้เฉพาะการให้คำแนะนำ แต่ไม่สามารถให้การวินิจฉัยหรือการตรวจรับรองงานได้
– ระดับภาคีวิศวกร ในงานออกแบบและคำนวณ มีการเปลี่ยนแปลง เช่น (ก) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 4 ชั้น โครงสร้างแต่ละชั้นมีความสูงไม่เกิน 5 เมตร หรืออาคารที่มีช่วงคานยาวทุกขนาด ทั้งนี้ อาคารหรือโครงสร้างของอาคารหรือองค์อาคารต้องไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสาธารณะ นอกจากนี้ (ฎ) หากเป็นกรณีที่เข้าข่ายต้องออกแบบและคำนวณตามกฎกระทรวง(ตามกฎหมายควบคุมอาคาร)ว่าด้วย การรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว จะต้องผ่านการเรียนการสอนหรือการอบรมว่าด้วยการออกแบบอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว
– ระดับภาคีวิศวกร ในงานควบคุมการสร้างหรือการผลิต มีการเพิ่มเติมประเภทและขนาด เช่น (ค) อาคารต้านแรงไหวสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น (ง) อาคารที่มีพื้นที่รวมกันไม่เกิน 150 ตารางเมตร ซึ่งอยู่บนพื้นที่เชิงลาดที่มีความลาดไม่เกิน 35 องศา (ซ) ท่าเทียบเรือ หรืออู่เรือสำหรับเรือที่มีระวางขับน้ำไม่เกิน 50 เมตริกตัน (ถ) โครงสร้างรองรับท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 0.30 เมตร หรือพื้นที่หน้าตัดของทุกท่อรวมกันไม่เกิน 0.10 เมตร (ท) โครงสร้างรองรับหรือติดตั้งเครื่องเล่นที่เคลื่อนที่ได้โดยมีความเร็วไม่เกิน 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือมีระดับความสูงที่ผู้เล่นขึ้นไปเล่นสูงสุดไม่เกิน 2.50 เมตร หรือมีส่วนที่ต้องใช้น้ำมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 0.80 เมตร (ธ) โครงสร้างของปั้นจั่นหอสูงหรือเดอริกเครนสูงไม่เกิน 23 เมตร จากระดับฐานที่ตั้ง (ผ) แบบหล่อคอนกรีตและโครงสร้างรองรับแบบหล่อคอนกรีตสำหรับเสา ผนัง หรือกำแพง มีความสูงไม่เกิน 5 เมตร สำหรับคานหรือแผ่นพื้นมีช่วงยาวไม่เกิน 8 เมตร

ในสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คือ ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับ พ.ศ. 2551 เช่น
– ระดับภาคีวิศวกร ในงานออกแบบและคำนวณ ซึ่งเดิมประกอบด้วย ระบบน้ำสะอาด ระบบน้ำเสีย ระบบขยะมูลฝอย และระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัย ในข้อบังคับฉบับใหม่ มีการเพิ่มเติมขึ้นหลายระบบ ได้แก่ ระบบประปา (อัตรากำลังผลิตสูงสุดไม่เกิน 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) ระบบการนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ (อัตรากำลังสูงสุดไม่เกิน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) ระบบระบายน้ำ (ไม่เกิน 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือพื้นที่จัดสรรที่ดินไม่เกิน 499 แปลง หรือพื้นที่โครงการไม่เกิน 100 ไร่) ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ (ปริมาตรการระบายอากาศไม่เกิน 900 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง) ระบบน้ำบาดาลหรือระบบเติมน้ำลงในชั้นน้ำบาดาล (ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมทุกขนาด

ดาวน์โหลด: ea\cr66.pdf, cr66-02.pdf, cr66-03.pdf, cr66-04.pdf, cr66-05.pdf, cr66-06.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn