กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของโรงแรม

กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของโรงแรม
30 ส.ค. 2566

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร ออก “กฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประเกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2566” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566

กฎกระทรวงฉบับนี้ออกมาใช้บังคับเฉพาะกับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ อาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับประเภทของอาคารที่นำมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน ที่มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากโรงแรมแบบดั้งเดิม มีความหลากหลายในรูปแบบ ลักษณะ และรูปทรงของอาคาร รวมทั้งยังมีการนำสิ่งปลูกสร้างอื่นมาให้บริการที่พักแก่ประชาชนเป็นการทั่วไปในลักษณะโรงแรมมากขึ้น กฎกระทรวงฉบับนี้จะช่วยทำให้ผู้ใช้บริการที่พักหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับความปลอดภัยเมื่อเข้าใช้อาคารหรือเข้าใช้บริการ

ก่อนหน้านี้ ได้มีกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559 ออกมาใช้บังคับ และมีฉบับแก้ไขเพิ่มเติมออกมาจนถึง (ฉบับที่ 4) เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2559 ดังกล่าวจะหมดอายุการใช้บังคับลงในเดือนสิงหาคม 2568 เมื่อหมดอายุลง การดัดแปลงอาคาร การเปลี่ยนการใช้อาคาร เพื่อให้เป็นโรงแรมและให้สามารถขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ก็จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้

กฎกระทรวงฉบับนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจ อาทิเช่น

– นอกจากจะมีคำว่า “ห้องพัก” ยังมีคำว่า “ห้องพักรวม” ด้วย ซึ่งกำหนดนิยามให้หมายความถึง “ห้องพักและบริเวณหรือพื้นที่ของโรงแรมที่มีผู้พักตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปโดยคิดค่าบริการรายคนและมีการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม โถงทางเดิน”
– นอกจากอาคารโรงแรมทั่วๆไป ยังกำหนดให้มี “อาคารลักษณะพิเศษ” ขึ้นหลายประเภท ซึ่งครอบคลุมถึงโรงแรมหรือห้องพักที่มีลักษณะเป็น แพ เต็นท์ โครงสร้างแบบอัดอากาศ ซากยานพาหนะที่นำมาปรับเปลี่ยน ท่อคอนกรีต ตู้คอนเทนเนอร์ ห้องพักบนต้นไม้ เป็นต้น

– โครงสร้างของอาคาร ต้องมีการออกแบบเป็นไปตามกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการกำหนดการออกแบบโครงสร้างอาคาร กฎกระทรวงเกี่ยวกับการกำหนดฐานรากของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคาร กฎกระทรวงกำหนดเกี่ยวกับการออกแบบเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว และกฎกระทรวงเกี่ยวกับการกำหนดวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งกฎกระทรวงเหล่านี้กำลังมีการปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มขึ้นมา และคงจะออกมาใช้บังคับในเวลาอีกไม่นานนัก

– กำหนดเรื่องบันไดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับโรงแรมสองชั้นที่มีจำนวนห้องพักไม่เกิน 10 ห้อง ผู้พักไม่เกิน 20 คน ว่าให้เป็นไปตามข้อ 23 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543)ฯ ซึ่งตีความได้ว่า ยอมให้ใช้ข้อกำหนดเรื่องบันไดของอาคารอยู่อาศัยได้ในโรงแรมขนาดดังกล่าว
– กำหนดให้ต้องจัดให้มีบันไดหนีไฟ สำหรับโรงแรมตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป หรือ 3 ชั้นมีดาดฟ้าเกิน 16 ตารางเมตร
– อาคารที่ต้องจัดให้มีบันไดหนีไฟ ต้องจัดให้มีบันไดหนีไฟอย่างน้อย 2 บันได มีระยะห่างกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของเส้นทแยงมุมที่ยาวทึสุดของอาคาร และต้องห่างกันไม่เกิน 60 เมตรตามแนวทางเดิน และได้กำหนดไว้โดยชัดเจนว่า บันไดหลักสามารถนำมาเป็นบันไดหนีไฟได้
– กำหนดเรื่องเส้นทางหนีไฟ จะต้องสอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุดที่คำนวณได้จากลักษณะอาคารต่างๆ (ดู ตารางที่ 1 ในกฎกระทรวงฯ) และให้คำนวณความกว้างของเส้นทางหนีไฟโดยนำจำนวนคนสูงสุดดังกล่าวมาคูณกับตัวคูณตามลักษณะของเส้นทางหนีไฟ คือ บันได 7.6 มม./คน ส่วนอื่นๆ 5 มม./คน
– มีขนาดความกว้างสุทธิต่ำสุดกำกับไว้ด้วย เช่น บันไดในเส้นทางหนีไฟต้องกว้างไม่น้อยกว่า 0.90 ม. ช่องประตูห้องพักไม่น้อยกว่า 0.86 ม. ส่วนอื่นๆ ของเส้นทางหนีไฟไม่น้อยกว่า 1.00 ม. โดยมีข้อยกเว้นสำหรับโรงแรมสองชั้นที่มีจำนวนห้องพักไม่เกิน 10 ห้อง ยอมให้บันไดมีความกว้างไม่น้อยกว่า 0.80 ม.

– กำหนดเรื่องระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยเป็นขั้นต่ำไว้สำหรับโรงแรมไม่เกินสองชั้นที่มีจำนวนห้องพักไม่เกิน 10 ห้องและมีพื้นที่อาคารไม่เกิน 300 ตารางเมตร อนุโลมให้มีเครื่องดับเพลิงมือถือไม่น้อยกว่า 1 เครื่อง โดยกำหนดระยะการเข้าถึงกำกับไว้ที่ไม่เกิน 22.50 เมตร และให้มีอุปกรณ์ตรวจจับควันและอุปกรณ์ส่งสัญญาณให้พื้นที่ห้องพัก
– สำหรับโรงแรมขนาดอื่นจะต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยตามที่กำหนด ซึ่งใกล้เคียงกับที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537)ฯ หรือเป็นไปตามที่กำหนดใน กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พะ.ศ. 2535)ฯ แล้วแต่กรณ๊ และมีข้อกำหนดเพิ่มเติมอย่างเช่น ทางไปสู่ทางหนีไฟที่มีลักษณะปลายตันต้องมีระยะปลายตันไม่เกิน 10 เมตร กำหนดกรณีประตูที่เปิดเข้าสู่พื้นหน้าบันไดหนีไฟหรือชานพักจะต้องไม่ทำให้ความกว้างของเส้นทางการอพยพลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง การติดตั้งแผนผังของอาคาร ฯลฯ

– กำหนดขนาดของห้องพักซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนผู้พ้ก และกำหนดขนาดของห้องพักรวมโดยคำนวณจากอัตราส่วนพื้นที่ห้องพักต่อผู้พัก และลักษณะของเตียงว่าเป็นเตียงชั้นเดียวหรือเตียงสูงสองชั้น
– กำหนดระยะดิ่งของห้องพักซึ่งแตกต่างจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 55ฯ
– กำหนดขนาดความกว้างของช่องทางเดิน ซึ่งเดิมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 55ฯ เข้าข่ายจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 ม. ให้มีความกว้างลดลงได้เป็นไม่น้อยกว่า 1.00 ม. ในกรณีที่มีจำนวนห้องพักไม่เกิน 10 ห้องในชั้นเดียวกัน และ 1.20 ม. กรณีเกิน 10 ห้องแต่ไม่เกิน 20 ห้องในชั้นเดียวกัน
– กำหนดขนาดความกว้างของทางเดินในห้องพักรวม และจำนวนช่องทางออกหรือประตูทางออกของห้องพักรวม
– กำหนดให้มีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร เว้นแต่ถ้ามีการใช้เป็นอาคารอยู่อาศัยรวมด้วย ก็ให้มีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

– มีข้อกำหนดเพิ่มเติมและข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติสำหรับอาคารลักษณะพิเศษประเภทต่างๆ
– สำหรับการดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารที่มีมาก่อนกฎกระทรวงเพื่อจะประกอบธุรกิจโรงแรม ให้สามารถทำได้โดยยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติข้อกำหนดบางประการได้ และกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่น ไม่เพิ่มพื้นที่อาคารเกินร้อยละ 2 ไม่เพิ่มความสูงของอาคาร และไม่เพิ่มพื้นที่ปกคลุมดิน

ดาวน์โหลด: cba/mr/mr66-70e.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn