NEW FACES : ดึงเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นกับ BODINCHAPA ARCHITECTS

 

เมื่อพวกเขานำหัวใจสำคัญของภูมิปัญญาพื้นถิ่น มาสรรสร้างเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย

ติดตามบทสัมภาษณ์และเรื่องราวของ BODINCHAPA ARCHITECTS สตูดิโอสถาปนิกจากอยุธยา กับแนวคิดการนำประโยชน์จากวัสดุที่เรียบง่าย มาผสมผสานกับสังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ พร้อมเต็มอิ่มกับแนวคิดสร้างสรรค์ของเหล่าสถาปนิกหน้าใหม่ในวารสารอาษาครู ฉบับ 11 NEW FACES – สถาปนิกและออฟฟิศสถาปนิกหน้าใหม่ไฟแรง…

 

 

แนวคิด/สิ่งที่สนใจหลักในการออกแบบ และหลัก การทำงานของออฟฟิศ

Bodinchapa เป็นทีมสถาปนิกที่สนใจงานออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่มีการศึกษาถึงบริบททางสังคม ความงามที่เป็นธรรมชาติในแบบของมัน โดยเราถ่ายทอดความเป็นพื้นถิ่นในรูปแบบร่วมสมัยประสานภูมิปัญญา การก่อสร้างแบบพื้นถิ่นร่วมกับเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่ รวมทั้งประยุกต์ใช้วัสดุที่เรียบง่ายหรือวัสดุพื้นถิ่นมาออกแบบให้เกิดมูลค่าทางมุมมองในอีกรูปแบบหนึ่ง

การถ่ายทอดความเป็นพื้นถิ่นในรูปแบบร่วมสมัยเป็นแนวคิดหลักๆ ของเรา ที่เราใช้เป็นมุมมองกับงานและประยุกต์กับการใช้ชีวิตในเรื่องอื่นๆ ด้วย เราสนใจในเรื่องการหยิบจับวัสดุและวิธีการที่เรียบง่ายนำมาประยุกต์ให้มีมุมมองที่หลากหลาย   น่าสนใจและยั่งยืน สำคัญที่สุดคือการนำภูมิปัญญาที่มีของพื้นถิ่นนั้นๆ มาประยุกต์ใช้กับวิธีคิดหรือองค์ประกอบบางอย่างในงาน ซึ่งคำว่าพื้นถิ่นในที่นี้เราอาจจะเอามาตีความในหลายรูปแบบ เช่น การตีความจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ การเลือกใช้วัสดุที่ได้จากในพื้นที่บริบทรอบข้างหรือตีความจากสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเจ้าของอาคารที่เราออกแบบ

 

 

ทำไมถึงมาเปิดออฟฟิศที่อยุธยา

ช่วงแรกที่เราเริ่มทำงานนั้น สถานที่ทำงานก็อยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนออฟฟิศส่วนใหญ่ แต่เราทั้งสองคนเป็นคนต่างจังหวัดและมองว่าหากเราต้องการให้งานออกมาดีในแบบที่เราสนใจ เราควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เรามีความสุขในการทำงาน สิ่งเหล่านั้นจะส่งผลต่อภาษาทางสถาปัตยกรรมของเราด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นเราสามารถที่จะนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ที่เราสบายใจ เราจึงลองตั้งสถานที่ทำงานของเราไว้ที่อยุธยาและเชียงรายซึ่งเป็นบ้านเกิดของเราทั้งสองคน

 

ความได้เปรียบเสียเปรียบต่างกันกับออฟฟิศที่เปิดที่กรุงเทพฯ อย่างไร

สิ่งที่ดีในการทำงานต่างจังหวัดคือบรรยากาศในการทำงาน สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เราคล่องตัวทั้งในการใช้ชีวิต ค่าใช้จ่าย และการเดินทางสะดวกสบายรถไม่ติดเสียเวลาในการเดิน ทางน้อยมากเมื่อเทียบกับอยู่กรุงเทพฯ ทำให้เรา มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย

 

 

ปัจจุบันความเข้าใจต่องานสถาปัตยกรรมและการประกอบวิชาชีพในวงการก่อสร้าง ช่างพื้น บ้าน ช่างท้องถิ่น และสังคมทั่วไปเป็นอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจกลับไปทำรับเหมาที่บ้านเกิดเยอะขึ้นบวกกับช่างที่เข้าใจในงานพื้นถิ่นที่มีความชำนาญ ทำให้การก่อสร้างค่อนข้างคึกคักและก่อสร้างตรงตามคาดหวังที่เราต้องการส่วนความเข้าใจต่อวิชาชีพมองว่าขึ้นอยู่กับตัวบุคคล คือยังมีทั้งคนที่ไม่เข้าใจหรือไม่เห็นถึงความสำคัญและคนที่เข้าใจเริ่มมีในวงกว้างมากขึ้น คิดว่าส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากคนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจเรื่องของวิชาชีพแล้วกลับไปใช้ชีวิต หรือเริ่มทำธุรกิจที่บ้านเกิดเพิ่มมากขึ้น และการให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ของอาคารมากขึ้น รวมถึงการที่สถาปนิกรุ่นใหญ่ๆ ได้ทำงานต่างจังหวัดและสร้างผลงานดีๆ ออกมาเรื่อยๆ เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของรูปลักษณ์และการวางแผนทำอาคารที่ส่งผลทั้งต่อการใช้ชีวิตและการสื่อสารของภาษาการออกแบบที่เป็นอาคารสาธารณะให้กับผู้ใช้อาคาร ทำให้ผู้คนเริ่มวางแผนในการที่จะปลูกสร้างอาคารมากขึ้น

 


 

Founded in: 2016

Founder: Bodin Mueanglue and Phitchapa Lothong

Number of staff: 2