ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

19 เม.ย. 2561

ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 โดย “พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2561

เนื้อหาของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เป็นการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และปรับปรุงหลักเกณฑ์การปฏิบัติให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มีมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วนในการดำรงไว้ซึ่งการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล

สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 278 ให้มีการจัดทำกฎหมายที่จำเป็นตามมาตรา 58 ซึ่งกำหนดให้ “การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ” โดยให้จัดทำร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติ

การปรับปรุงแก้ไขเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อเรียกของ “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” เป็น “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” และบัญญัติ “ส่วนที่ 4 การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ขึ้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งพอจะสรุปการปรับปรุงและความแตกต่างระหว่างของเดิมกับของใหม่เฉพาะบางประเด็นที่น่าสนใจได้ดังนี้

– เพิ่มบทนิยามคำว่า “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” “อนุญาต” และ “ผู้ดำเนินการ” (มาตรา 46)

“การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” หมายความว่า กระบวนการศึกษาและประเมินผล ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้มีการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบดังกล่าว ผลการศึกษา เรียกว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

“อนุญาต” หมายความว่า การที่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐยินยอมให้บุคคลใดกระทำการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมก่อนกระทำการนั้น และให้หมายความรวมถึงการออกใบอนุญาต การอนุมัติ การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การให้ประทานบัตร และการให้อาชญาบัตรด้วย

“ผู้ดำเนินการ” หมายความว่า เจ้าของโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 48 และให้หมายความรวมถึงผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุดสำหรับทรัพย์ส่วนกลางตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด และผู้จัดสรรที่ดินหรือคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรสำหรับสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินด้วย

– ในกรณีที่มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ตามกฎหมายอื่นใด จะต้องคำนึงถึงด้วย (มาตรา 47)

– อำนาจในการ “ประกาศกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ของรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยังคงมีอยู่โดยเปลี่ยนถ้อยคำเป็น การ”ประกาศกำหนดให้โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ เป็นโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ซึ่งผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” (มาตรา 48 วรรคหนึ่ง) (หมายถึง EIA หรือ EHIA) ประกาศดังกล่าวนี้ พระราชบัญญัติใหม่กำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อทบทวนทุก 5 ปี หรือจะเร็วกว่านั้นก็ได้ในกรณีที่จำเป็น (มาตรา 48 วรรคสี่)

– การประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติเลยว่า อย่างน้อยต้องประกอบด้วย “สาระสำคัญเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการ สภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน การประเมินทางเลือกในการดำเนินการ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการทั้งทางตรงและทางอ้อม การมีส่วนร่วมของประชาชนในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการชดเชยเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหาย” หัวข้อสาระสำคัญเหล่านี้เดิมมีกำหนดอยู่ในเอกสารแนวทางการจัดทำรายงานฯ อยู่แล้ว ยกเว้นสาระสำคัญที่จะต้องเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (มาตรา 48 วรรคสอง)

– สำหรับคำว่า “รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น” ยังคงใช้คำเรียกเช่นเดิม (ปรากฏในมาตรา 50 วรรคหนึ่ง)

– ผู้ตรวจสอบรายงานฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เสนอมา นอกจากเป็นอำนาจหน้าที่ของ สผ. แล้ว ตามพระราชบัญญัติ ฉบับที่ 2 ยังเพิ่ม “หรือหน่วยงานของรัฐตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทน” (มาตรา 50 วรรคสาม) สำหรับการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบรายงานฯ แทนนี้ สผ. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอาจมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐแห่งอื่นปฏิบัติหน้าที่แทนได้ เว้นแต่เป็นโครงการที่ต้องทำ EHIA ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด (มาตรา 50 วรรคห้า)

– ในการตรวจสอบรายงานฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เสนอของ สผ. ในส่วนของเอกสารที่เกี่ยวข้องนั้น เดิมใช้คำว่า “หรือมีเอกสารข้อมูลไม่ครบถ้วน” แก้ไขเป็น “หรือมีเอกสารไม่ครบถ้วน” (มาตรา 50 วรรคสาม) และเมื่อพิจารณาแล้ว เดิมใช้คำว่า “และมีข้อมูลครบถ้วน” แก้ไขเป็น “และมีเอกสารครบถ้วน” (มาตรา 50 วรรคสี่) ขอให้สังเกตว่าได้ตัดคำว่า “ข้อมูล” ออกไป

–  ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้บัญญัติเพิ่มเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นคือ ในกรณีที่ คชก. ไม่ให้ความเห็นชอบ ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรายงานฯใหม่ตามแนวทาง รายละเอียด ประเด็น หรือหัวข้อที่ คชก. กำหนด “ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาของ คชก. มิฉะนั้นให้ถือว่าผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตไม่ประสงค์จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้ถือว่าจบกระบวนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ตัดสิทธิที่ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตจะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่” (มาตรา 51/1 วรรคสอง) ส่วนในกรณีที่ คชก. ไม่ให้ความเห็นชอบ ก็ “ให้ถือว่าจบกระบวนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ตัดสิทธิที่ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตจะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่” (มาตรา 51/1 วรรคสี่) และบัญญัติเพิ่มไว้เพื่อให้เกิดความชัดเจนด้วยว่า การให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบนั้น ความเห็นของ คชก. ให้เป็นที่สุด (มาตรา 51/1 วรรคห้า)

– เดิมเคยบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่เห็นเป็นการสมควร รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้โครงการหรือกิจการตามประเภทและขนาดที่ต้องจัดทำรายงานฯ ให้ต้องเสนอรายงานฯในการขอต่ออายุใบอนุญาตสำหรับโครงการหรือกิจการนั้น ตามวิธีการเช่นเดียวกับการขออนุญาตด้วยก็ได้ (มาตรา 49 วรรคห้าเดิม) ในการปรับปรุงแก้ไขโดย พระราชบัญญัติ ฉบับที่ 2 ไม่มีข้อความดังกล่าวอีกแล้ว ซึ่งน่าจะเข้าใจได้ว่า โครงการที่รายงานฯผ่านแล้ว และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว (หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงการ) จะไม่ต้องจัดทำรายงานฯอีกในการต่ออายุใบอนุญาต

– ในการพิจารณาของ คชก. กรรมการ คชก. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย มีอำนาจตรวจสถานที่ตั้งโครงการที่เสนอรายงานฯได้ พระราชบัญญัติ ฉบับที่ 2 บัญญัติข้อความเพิ่มเติมว่า “โดยต้องกระทำต่อหน้าหรือด้วยความยินยอมของผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาต” (มาตรา 51/2) ซึ่งหลักเกณฑ์เรื่องนี้เดิมกำหนดอยู่ในมาตรา 86 ซึ่งมีเงื่อนไขต่างกันตรงที่ เดิมนั้น ให้ทำต่อหน้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ ถ้าหาบุคคลดังกล่าวไม่ได้ก็ให้ทำต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ขอร้องให้มาเป็นพยานก็ได้

– เมื่อ คชก. ให้ความเห็นชอบแล้ว ยังคงกำหนดให้หน่วยงานผู้อนุญาตต้องนำมาตรการตามที่เสนอไว้ในรายงานฯ ไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตหรือต่ออนุญาต โดยให้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายในเรื่องนั้นๆ ด้วย พระราชบัญญัติ ฉบับที่ 2 เน้นในจุดนี้เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มข้อความกำหนดให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตนำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตต้องจัดทำไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาตด้วย (มาตรา 51/3 วรรคสอง)

– สำหรับ “รายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” นี้ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการในการติดตามตรวจสอบและพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตซึ่งได้รับอนุญาตแล้ว ต้องจัดทำรายงานดังกล่าวเสนอต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาต อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนด (มาตรา 51/5)

– รายงานฯ ที่ได้รับความเห็นจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือได้รับความเห็นชอบ หรือถือว่าได้รับความเห็นชอบจาก คชก. สามารถนำไปใช้เพื่อเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือประกอบการพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายได้เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ สผ. หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทน ได้มีหนังสือแจ้งความเห็นหรือความเห็นชอบ แล้วแต่กรณี (มาตรา 51/6)

นอกจากการปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ว่าด้วยการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้เพิ่มบทลงโทษ กรณีผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาต ก่อสร้างหรือดำเนินโครงการหรือกิจการก่อนที่รายงานฯจะได้รับความเห็นชอบหรือถือว่าได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ต้องระวางโทษไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งแสนบาทตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือหยุดการกระทำนั้น และหากเป็นกรณีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรง ต้องระวางโทษหนักขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง (มาตรา 101/1) และกรณีผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตไม่นำส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท (มาตรา 101/2)

สำหรับรายงานฯที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นรายงานฯตามพระราชบัญญัติที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมนี้ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนรายงานฯที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯได้ให้ความเห็นชอบ หรือถือได้ว่าให้ความเห็นชอบ หรือที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้ให้ความเห็นแล้ว สามารถนำไปใช้เพื่อเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือประกอบการพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายได้ ภายในระยะเวลา 5 ปี

ดาวน์โหลดพระราชบัญญัติ

Facebook
Twitter
LinkedIn