ข้อกำหนดส้วมสาธารณะ

ข้อกำหนดส้วมสาธารณะ
22 มิ.ย. 2561

มีกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับฉบับหนึ่งซึ่งจะมีผลต่อการออกแบบห้องน้ำสาธารณะต่อไปในอนาคต คือ กฎกระทรวง สุขลักษณะการจัดการสิ่งปฏกูล พ.ศ. 2561 ออกตามความในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 22 มิถุนายน 2561 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศ คือตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป

กฎกระทรวงฉบับนี้เป็นการกำหนดมาตรฐานการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูล ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการหลายขั้นตอนตั้งแต่การเก็บ ขน และกำจัด เพื่อให้การจัดการสิ่งปฏิกูลเหมาะสมและถูกสุขลักษณะอันทำให้สามารถควบคุมและป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของโรค

ส่วนที่น่าสนใจในกฎกระทรวงฉบับนี้คือ หมวด 1 สุขลักษณะของส้วม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับส้วมสาธารณะ ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับนี้ หมายความถึง ส้วมที่จัดไว้เพื่อให้บริการเป็นการทั่วไปในสถานที่ต่างๆ ทั้งกรณีที่มีการจัดเก็บค่าบริการและไม่จัดเก็บค่าบริการ และให้หมายความรวมถึงส้วมที่จัดไว้เพื่อให้บริการภายในหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานของเอกชน

ข้อ 7 ของกฎกระทรวงกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่ที่ให้บริการส้วมสาธารณะต้องดำเนินการให้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ ซึ่งบางเรื่องมีผลต่อการออกแบบและการกำหนดรายการประกอบแบบสำหรับห้องส้วม เช่น
– การจัดให้มีอ่างล้างมือพร้อมสบู่หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดสำหรับทำความสะอาดมือซึ่งพร้อมใช้งาน
– จัดให้มีสายฉีดน้ำชำระที่สะอาดและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หรือกระดาษชำระชนิดยุ่ยและกระจายตัวได้ง่ายเมื่อเปียกน้ำซึ่งสามารถทิ้งลงในโถส้วมได้ ในกรณีที่กระดาษชำระเป็นชนิดที่ไม่สามารถทิ้งลงในโถส้วมได้หรือระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลไม่สามารถรองรับกระดาษชำระได้ให้รวบรวมกระดาษชำระที่ใช้แล้วใส่ที่รองรับมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด มีฝาปิดมิดชิด อยู่ในสภาพดี ไม่รั่วซึม และเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ
– ในส้วมต้องมีการถ่ายเทอากาศที่ดีหรือระบบระบายอากาศเพื่อการถ่ายเทอากาศที่ดี
– ประตูห้องส้วม ต้องมีที่จับเปิดและปิดที่สะอาด มีอุปกรณ์ยึดประตูด้านในที่สามารถไขจากด้านนอกได้ โดยประตูต้องเปิดออกจากด้านใน เป็นบานพับ บานเลื่อน หรือเป็นรูปแบบอื่น เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือผู้ใช้บริการในกรณีหมดสติได้

ในกรณีของประตูห้องส้วม อาจทำให้การออกแบบและการกำหนดรายการอุปกรณ์ของห้องส้วมต้องแตกต่างไปจากที่เคยปฏิบัติแต่เดิม คือ (1) ถ้าเป็นบานพับ ต้องเปิดออก และ (2) ล็อคประตูด้านในต้องสามารถไขจากด้านนอกได้

อย่างไรก็ตาม ในกฎกระทรวงได้กำหนดบทเฉพาะกาลสำหรับหลักเกณฑ์เรื่องประตูห้องส้วมที่ต้องเปิดออกจากด้านในนี้ไม่ใช้บังคับกับส้วมสาธารณะที่ดำเนินการอยู่แล้วในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

ดาวน์โหลดกฎกระทรวง

 

Facebook
Twitter
LinkedIn