พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
12 ม.ค. 2562

พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2562 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ คือวันที่ 13 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ส่วนการจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัตินี้ จะเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

พระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมาเพื่อใช้แทนพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทั้งสอง รวมถึงพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประกาศของคณะปฏิวัติ ที่เป็นฉบับปรับปรุงแก้ไขของพระราชบัญญัติทั้งสองทั้งหมด และหากมีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับใดที่ใช้บังคับอยู่ก่อนที่อ้างไปถึงภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีบำรุงท้องที่ ก็”ไม่ให้”มีความหมายเป็นการกล่าวถึงหรืออ้างถึงภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ (มาตรา 4)

พระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บภาษีจากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น และให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น (มาตรา 7) มีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภทที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งรวมถึง ทรัพย์สินส่วนกลางที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ที่ดินอันเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น และกำหนดเพิ่มได้โดยออกเป็นกฎกระทรวง (ดู มาตรา 8)

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แสดงประเภท จำนวน ขนาดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และรายละเอียดอื่นที่จำเป็นแก่การประเมินภาษี ประกาศไว้ ณ สำนักงานหรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือสถานที่อื่นด้วยตามที่เห็นสมควร รวมทั้งจัดส่งข้อมูลให้แก่ผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ (มาตรา 30) หากผู้เสียภาษีเห็นว่าไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง สามารถยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อขอแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องได้ (มาตรา 32) ในกรณีที่การใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด อันมีผลทำให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นหรือลดลง ผู้เสียภาษีต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือรู้ถึงเหตุดังกล่าว (มาตรา 33) หากไม่แจ้งต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท (มาตรา 85)

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มี 4 ประเภท โดยกำหนดเพดานอัตราภาษีไว้ ดังนี้ (มาตรา 37)
(1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ไม่เกิน 0.15% ของฐานภาษี
(2) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 0.3% ของฐานภาษี
(3) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจาก (1) หรือ (2) ไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี
(4) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ไม่เกิน 1.2%
ส่วนอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะเป็นเท่าใด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีความประสงค์ที่จะจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาก็มีอำนาจตราข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในพระราชบัญญัติ โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดก่อน (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) กรณีคณะกรรมการฯประจำจังหวัดไม่เห็นชอบ ให้ส่งความเห็นคืนผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อเสนอสภาท้องถิ่นแก้ไข ซึ่งสภาท้องถิ่นอาจพิจารณาแก้ไข หรือไม่ก็พิจารณายืนยันด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม

ในกรณีที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างใดมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท ให้จัดเก็บภาษีตามสัดส่วนของการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร่วมกันประกาศกำหนด (มาตรา 38)

ในการคำนวณภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปี จะคำนวณจากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมูลค่าที่ดินจะใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ และมูลค่าสิ่งปลูกสร้างจะใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้างเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ ในกรณีของห้องชุดจะใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ (มาตรา 35) โดยกรมธนารักษ์จะเป็นผู้จัดทำบัญชีกำหนดราคาประเมินต่างๆ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 36) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะประกาศราคาประเมิน อัตราภาษีที่จัดเก็บ และรายละเอียดอื่นที่จำเป็น ณ สำนักงานหรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของแต่ละปี (มาตรา 39)

พระราชบัญญัติฯได้บัญญัติเกี่ยวกับการได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีไว้ ดังนี้
– ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีรวมกันในการคำนวณภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท (มาตรา 40)
– ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษี หากเป็นเจ้าของและที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่หากเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ให้ได้รับยกเว้นไม่เกิน 10 ล้านบาท (มาตรา 41)
ในกรณียกเว้นเหล่านี้ การคำนวณภาษีจะใช้ฐานภาษีซึ่งคำนวณได้ตามปกติ หักด้วยมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับยกเว้น (มาตรา 42)

สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ หากยังคงสภาพดังกล่าวเป็นเวลาสามปีติดต่อกัน ในปีที่สี่อัตราภาษีที่จัดเก็บจะเพิ่มขึ้น 0.3% และจะเพิ่มอัตราเช่นนี้ทุกๆ สามปี แต่อัตราภาษีรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 3% (มาตรา 43)

ในแต่ละปี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ (มาตรา 44) ซึ่งผู้เสียภาษีจะต้องชำระภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปี (มาตรา 46) โดยอาจขอผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเท่าๆ กันก็ได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 52)

ในช่วงสองปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษีไว้ในบทเฉพาะกาล ดังนี้ (มาตรา 94)
(1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม – ไม่เกิน 75 ล้านบาท 0.01%, เกิน 75 ไม่เกิน 100 ล้านบาท 0.03%, เกิน 100 ไม่เกิน 500 ล้านบาท 0.05%, เกิน 500 ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท 0.07%, เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป 0.1%
(2) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของ(บุคคลธรรมดา)ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน – ไม่เกิน 25 ล้านบาท 0.03%, เกิน 25 ไม่เกิน 50 ล้านบาท 0.05%, เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป 0.1%
(3) สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของ(บุคคลธรรมดา)ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน – ไม่เกิน 40 ล้านบาท 0.02%, เกิน 40 ไม่เกิน 65 ล้านบาท 0.03%, เกิน 65 ไม่เกิน 90 ล้านบาท 0.05%, เกิน 90 ล้านบาทขึ้นไป 0.1%
(4) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย นอกเหนือจาก (2) และ (3) – ไม่เกิน 50 ล้านบาท 0.02%, เกิน 50 ไม่เกิน 75 ล้านบาท 0.03%, เกิน 75 ไม่เกิน 100 ล้านบาท 0.05%, เกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป 0.1%
(5) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจาก (1) ถึง (4) – ไม่เกิน 50 ล้านบาท 0.3%, เกิน 50 ไม่เกิน 200 ล้านบาท 0.4%, เกิน 200 ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท 0.5%, เกิน 1,000 ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท 0.6%, เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป 0.7%
(6) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ – อัตราเท่ากับ (5)
ในการคำนวณภาษี สามารถหักมูลค่าของฐานภาษีด้วยมูลค่าที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 40 หรือมาตรา 41 ได้ (มาตรา 95)

นอกจากนี้ ในช่วงสามปีแรก พระราชบัญญัตินี้ยังได้บรรเทาการชำระภาษีให้ ดังนี้
– ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้ยกเว้นการจัดเก็บ (มาตรา 96)
– กรณีการประเมินภาษีสูงกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องเสียอยู่เดิม ให้ชำระตามจำนวนที่ต้องเสียหรือพึงชำระในปีก่อน เหลือจำนวนภาษีเท่าใดให้ชำระเพียงร้อยละ 25 ของจำนวนภาษีที่เหลือ ในปีที่หนึ่ง, ร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่เหลือ ในปีที่สอง, และร้อยละ 75 ของจำนวนภาษีที่เหลือ ในปีที่สาม (มาตรา 97)

ดาวน์โหลด: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/030/T_0021.PDF

Facebook
Twitter
LinkedIn