แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
16 เม.ย. 2562

แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดย “พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

เนื้อหาของพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้ครอบคลุมกิจการที่จำเป็นหรือเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานของ กนอ. โดยกำหนดให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้มาจากการตราพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ชัดเจน รวมทั้งกำหนดให้การพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ หรือรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายบางฉบับที่จำเป็นให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และกำหนดให้การนำของหรือวัตถุดิบเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อพาณิชยกรรมได้รับความสะดวกมากขึ้น

ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจกระทำกิจการ ได้บัญญัติเพิ่ม (4/1) ของมาตรา 10 กำหนดให้ กนอ. มีอำนาจรวมถึง การกำกับหรือจัดให้มีระบบป้องกันอุบัติภัย ระบบรักษาความปลอดภัย และระบบบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม รวมตลอดถึงการควบคุมและจัดการน้ำเสีย การจัดการขยะมูลฝอย และการจัดการมลภาวะอื่นใดในนิคมอุตสาหกรรม

อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร การประกอบกิจการโรงงาน ภายในนิคมอุตสาหกรรม คือการปรับปรุงแก้ไขมาตรา 42 และบัญญัติเพิ่มมาตรา 42/1 และมาตรา 42/2 ซึ่งอยู่ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการ ประโยชน์ และข้อห้าม ของนิคมอุตสาหกรรม โดยมาตรา 42 บัญญัติให้การดำเนินการหรือการกระทำใดของผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบพาณิชยกรรมที่เกี่ยวข้องกับ (1) กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน (2) กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร (3) กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และ (4) กฎหมายว่าด้วยโรงงาน หากกฎหมายเหล่านี้กำหนดให้ผู้ดำเนินการหรือผู้กระทำต้องได้รับอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้น หรือต้องจดทะเบียนหรือแจ้งต่อหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้นก่อน ให้ถือว่าผู้ว่าการ กนอ. หรือผู้ซึ่งผู้ว่าการ กนอ. มอบหมาย เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ หรือเป็นผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายนั้นด้วย ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวด้วย

ในการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ หรือรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งดังกล่าว จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนั้น และเมื่อดำเนินการแล้วให้แจ้งหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้นหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

หลักการของมาตรา 42 นี้ยังคงเดิมคือเป็นการให้อำนาจหน้าที่แก่ผู้ว่าการ กนอ. ในการดำเนินการหรือการกระทำตามกฎหมายอื่น สิ่งที่แตกต่างจากเดิมคือ เดิมกล่าวถึงกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร และกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ในพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ เพิ่มกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน และกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และไม่ได้กล่าวถึงกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และอีกประเด็นหนึ่งคือ เดิมไม่ได้กำหนดว่าให้ กนอ. แจ้งหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายอื่นหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

ในกรณีการดำเนินการหรือการกระทำใดภายในนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นนอกเหนือจากกฎหมายดังกล่าวข้างต้น มาตรา 42/1 ที่บัญญัติเพิ่มขึ้น กำหนดว่าจะต้องได้รับอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้น หรือต้องจดทะเบียนหรือแจ้งต่อหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้นก่อน แต่ก็ได้เปิดช่องให้หน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายอื่นนั้นสามารถมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้ว่าการ กนอ. หรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจปฏิบัติการแทนก็ได้

มาตรา 42/2 ที่เพิ่มขึ้นบัญญัติว่า ในการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ หรือรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามมาตรา 42 และมาตรา 42/1 ให้ กนอ. มีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย หรือค่าอื่นใด ที่กฎหมายว่าด้วยการนั้นกำหนดไว้ และให้นำส่งหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย หรือค่าอื่นใดนั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่ได้ตกลงกัน และให้อำนาจ กนอ. ในการเรียกเก็บค่าบริการในการดำเนินการเพิ่มเติมได้ตามอัตราที่คณะกรรมการ กนอ. กำหนด ซึ่งต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ ค่าบริการในส่วนนี้ถือเป็นรายได้ของ กนอ.

ดาวน์โหลดพระราชบัญญัติ:
ieat62(05).pdf

 

Facebook
Twitter
LinkedIn