ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน

ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน
30 เม.ย. 2562

พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 เป็นการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการประกอบกิจการโรงงาน และเพื่อถ่ายโอนภารกิจบางส่วนสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

เหตุผลในการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การควบคุมการประกอบกิจการโรงงานที่มีความเข้มงวดและล่าช้า อันสร้างปัญหาและอุปสรรคต่อการประกอบกิจการโรงงาน สมควรเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การควบคุมการประกอบกิจการโรงงานใหม่เพื่อให้การควบคุมการประกอบกิจการโรงงานเป็นไปเพียงเท่าที่จำเป็น เกิดความรวดเร็ว ประหยัด และลดภาระแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานโดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการโรงงานขนาดเล็ก โดยการปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาของผู้อนุญาตและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายให้มีความชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจ ยกเลิกการกำหนดให้มีการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ รวมทั้งปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียม เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน

รายละเอียดการแก้ไขปรับปรุงบางเรื่องที่น่าสนใจ เช่น

– พระราชบัญญัตินี้นอกจากจะไม่ใช้บังคับแก่โรงงานของทางราชการเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศแล้ว ยังเพิ่มเติมให้รัฐมนตรีสามารถออกประกาศกำหนดให้โรงงานบางประเภทได้รับยกเว้นจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงานบางส่วนก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ได้แก่ โรงงานของทางราชการ โรงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาวิจัย โรงงานของสถาบันการศึกษาในส่วนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการฝึกอบรม โรงงานที่ดำเนินงานอันมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว และโรงงานที่ดำเนินงานอันมีลักษณะที่จำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่มิใช่โรงงานตามพระราชบัญญัตินี้และตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

– แก้ไขบทนิยาม “โรงงาน” ให้หมายความถึง อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมหรือเทียบเท่าตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป (เดิม 5 แรงม้าขึ้นไป) หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปโดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม (เดิม 7 คนขึ้นไป) และแก้ไขบทนิยาม “ตั้งโรงงาน” ให้หมายความถึงการนำเครื่องจักรมาติดตั้งในอาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการโรงงาน หรือนำคนงานมาประกอบกิจการโรงงานในกรณีที่ไม่มีการใช้เครื่องจักร (เดิมจะต้องมีการก่อสร้างอาคาร และไม่ครอบคลุมถึงการนำคนงานมาประกอบกิจการโรงงานในกรณีที่ไม่มีการใช้เครื่องจักร)

– ในการแบ่งโรงงานออกเป็นสามจำพวกในมาตรา 7 สำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 ซึ่งเดิมเป็นจำพวกที่จะต้องแจ้งให้ผู้อนุญาต (ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย) ทราบก่อน แก้ไขเป็น ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ (ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้) ทราบก่อน ซึ่งจะสอดคล้องกับที่บัญญัติในมาตรา 11 มาแต่เดิมว่า เมื่อจะเริ่มประกอบกิจการโรงงานให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน

– เพิ่มเรื่อง “ผู้ตรวจสอบเอกชน” ให้ชัดเจนขึ้นในมาตรา 9 มาตรา 9/1 ถึง มาตรา 9/6 โดยต้องได้รับใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองจากผู้อนุญาต กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองนี้ให้มีอายุถึงวันสิ้นปีปฏิทินแห่งปีที่ 3 นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตฯ

– ยกเลิกอายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งเดิมกำหนดให้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นปีปฏิทินแห่งปีที่ 5 และยกเลิกเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาต ในกรณีโรงงานที่ภายหลังมีกำลังรวมของเครื่องจักรลดลงหรือจำนวนคนงานลดลงจนไม่เข้าข่ายโรงงานตามบทนิยาม ให้ถือว่ายังเป็นโรงงานตามพระราชบัญญัตินี้อยู่จนกว่าจะได้แจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงาน

– กำหนดหลักเกณฑ์ที่เข้าข่ายจะต้องขออนุญาตขยายโรงงานให้ละเอียดขึ้น โดยพิจารณาจากกำลังรวมของเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้น และกำลังรวมของเครื่องจักรเดิม นอกจากนั้น ยังครอบคลุมถึงการดำเนินการในการเพิ่ม เปลี่ยน เปลี่ยนแปลงเครื่องจักรซึ่งกระทำบนที่ดินแปลงใหม่ที่ติดกับที่ดินที่ตั้งโรงงานเดิมหรือที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ขยายโรงงานไว้เดิม และกำหนดหลักเกณฑ์การขยายโรงงานบางกรณีที่ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต เช่น การจัดให้มีหรือเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดมลพิษ ให้มีมาตรการป้องกันหรือลดเหตุเดือดร้อนรำคาญ เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรต้นกำลัง หรือเพื่อให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง หรือเพื่อประสิทธิภาพด้านพลังงาน

– ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรที่ไม่ถึงขั้นขยายโรงงาน หรือการเพิ่มเนื้อที่อาคารโรงงาน โดยในกรณีการเพิ่มเนื้อที่อาคารโรงงาน แก้ไขหลักเกณฑ์เป็นตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไปในกรณีเนื้อที่โรงงานไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร หรือตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไปในกรณีเนื้อที่โรงงานเกิน 2,000 ตารางเมตร (เดิมเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปไม่ว่าจะมีเนื้อที่โรงงานเท่าใด) และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพิ่มเติม กรณีเหล่านี้ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการดำเนินการดังกล่าว

– พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2562

พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

เหตุผลในการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจในการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 1 และจำพวกที่ 2 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยโรงงานเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดกลไกเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากการดำเนินการตามภารกิจที่ถ่ายโอนดังกล่าว

พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดว่า เมื่อรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่นหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงาน ก็ให้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดตามที่กำหนดไว้สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 1 และโรงงานจำพวกที่ 2 ที่ตั้งอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น และค่าธรรมเนียมต่างๆ สำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 ให้ตกเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

 

ดาวน์โหลดพระราชบัญญัติ:
พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562
พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

Facebook
Twitter
LinkedIn