ปรับปรุงวิธีการแจ้งขอเลขประจำบ้าน

ปรับปรุงวิธีการแจ้งขอเลขประจำบ้าน
21 มิ.ย. 2562

มีการปรับปรุงแก้ไข ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 โดย “ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 เนื้อหาส่วนใหญ่ในระเบียบฉบับใหม่นี้เป็นการปรับปรุงในส่วนของการทำทะเบียนราษฎร์ และการพิจารณาโทษปรับทางปกครองสำหรับความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร์ แต่ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่มีการปรับปรุงแก้ไข\คือวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการขอเลขประจำบ้านให้รัดกุมขึ้นโดยจะต้องมีหนังสืออนุญาตปลูกสร้างหรือใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารด้วย

การดำเนินการตามระเบียบเดิมนั้น เมื่อมีการรับแจ้งต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแล้ว ก่อนที่จะมีการกำหนดบ้านเลขที่ กำหนดเลขรหัสประจำบ้าน และจัดทำทะเบียนบ้าน ฯลฯ ระเบียบกำหนดให้มีเพียง การตรวจสอบหลักฐานของผู้แจ้ง และตรวจสอบสภาพความเป็นบ้าน ตามระเบียบที่ปรับปรุงแก้ไขกำหนดว่า เมื่อเจ้าบ้านหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเลขประจำบ้าน ให้นายทะเบียนรับคำร้องตามแบบ ท.ร.๙ ตรวจสอบว่าบ้านที่ขอกำหนดเลขประจำบ้านปลูกสร้างอยู่ในเขตหรือนอกเขตประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และดำเนินการแล้วแต่กรณี

ในกรณีที่บ้านปลูกสร้างอยู่ในเขตประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ให้ดำเนินการ
(1) เรียกตรวจหลักฐานแสดงสิทธิครอบครองที่ดินที่ปลูกสร้างบ้าน (ไม่ว่าจะครอบครองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่าที่ดิน หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดิน), หนังสืออนุญาตปลูกสร้างหรือใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารที่ออกให้โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น, บัตรประจำตัวของผู้แจ้งและสำเนาบัตรประจำตัวของเจ้าของที่ดินหรือผู้มีอำนาจอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการปลูกสร้างบ้าน
(2) ตรวจสภาพบ้าน ว่าเป็นบ้านที่ปลูกสร้างเสร็จสมบูรณ์หรือสร้างเกือบเสร็จและสามารถเข้าอยู่อาศัยได้เป็นปกติอย่างเหมาะสม
(3) กำหนดเลขประจำบ้านและเลขรหัสประจำบ้าน
(4) ถ้าผู้ขอมีหลักฐานแสดงสิทธิครอบครองที่ดินที่ปลูกสร้างบ้าน แต่ไม่มีหลักฐานการขออนุญาตปลูกสร้างหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ให้นายทะเบียนกำหนดเลขประจำบ้านและเลขรหัสประจำบ้านเป็นบ้านชั่วคราว และแนะนำเจ้าบ้านให้ดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร แล้วนำหลักฐานพร้อมสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านมาแก้ไขโดยขีดฆ่าคำว่า “ชั่วคราว” ออก และบันทึกการแก้ไขพร้อมลงวันเดือนปีที่แก้ไขและลงชื่อนายทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน
(5) ถ้าผู้ขอไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิครอบครองที่ดินที่ปลูกสร้างบ้าน ให้นายทะเบียนกำหนดเลขประจำบ้านและเลขรหัสประจำบ้านเป็นบ้านชั่วคราว และให้บันทึกข้อความไว้ในสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านว่า “ผู้ใดจะอ้างทะเบียนบ้านชั่วคราวฉบับนี้เพื่อแสดงว่าตนมีสิทธิในที่ดินหรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่บ้านหลังนี้ตั้งอยู่มิได้”

สำหรับกรณีบ้านที่ปลูกสร้างอยู่นอกเขตประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ไม่ต้องยื่นหนังสืออนุญาตปลูกสร้างหรือใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารที่ออกให้โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น และไม่มีกรณีการกำหนดเลขบ้านชั่วคราวตาม (4) ข้างต้น

ระเบียบฉบับใหม่นี้ยังได้เพิ่มเรื่องการขอเลขประจำอาคารซึ่งก็ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับการขอกำหนดเลขประจำบ้าน และการขอเลขประจำบ้านกรณีบ้านอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ในการขอเลขบ้านกรณีบ้านอยู่ระหว่างการก่อสร้าง (รวมถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นอันมิใช่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย และการจัดทำทะเบียนอาคารชั่วคราวที่อยู่ระหว่างก่อสร้างด้วย) ในขั้นตอนการตรวจสภาพบ้าน บ้านแต่ละหลังจะต้องมีการก่อสร้างในส่วนที่เป็นรากฐานของบ้านและมุงหลังคาเรียบร้อยแล้ว หรือถ้าเป็นตึกหรืออาคารชุดหรืออาคารลักษณะอื่นในทำนองเดียวกัน จะต้องมีการก่อสร้างเป็นปริมาณงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยมีหนังสือรับรองจากวิศวกรหรือนายช่างโยธาที่ควบคุมการก่อสร้าง เมื่อกำหนดเลขประจำบ้านและเลขรหัสประจำบ้านชั่วคราวแล้ว จะจัดทำทะเบียนชั่วคราว และจัดทำสำเนาทะเบียนบ้านชั่วคราวฉบับเจ้าบ้านเพื่อมอบให้แก่ผู้แจ้ง โดยมีระบุข้อความว่า “บ้านอยู่ระหว่างก่อสร้าง” สำหรับบ้านที่มีหลักฐานการอนุญาตก่อสร้าง หรือ “บ้านอยู่ระหว่างก่อสร้าง (ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้าง)” สำหรับบ้านที่ไม่มีหลักฐานการอนุญาตปลูกสร้าง

Facebook
Twitter
LinkedIn