กฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของสถานบริการ

กฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของสถานบริการ

30 มี.ค. 2555

กระทรวงมหาดไทยออก “กฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. 2555″ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไป

สืบเนื่องมาจากกรณีเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับเมื่อวันเริ่มปีใหม่ปี 2552 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการร่างกฎกระทรวงเพื่อควบคุมอาคารประเภทสถานบริการให้เกิดความปลอดภัย จนออกมาเป็นกฏกระทรวงฉบับนี้ในที่สุด

เนื้อหาสาระบางส่วนที่น่าสนใจในกฎกระทรวงฉบับนี้ได้แก่

– กฎกระทรวงฉบับนี้ได้ให้บทนิยามใหม่ๆ ที่น่าสนใจหลายคำ ได้แก่ พื้นที่สถานบริการ, พื้นที่บริการ, ผนังทนไฟ, ความจุคน, เส้นทางหนีไฟ, ทางหนีไฟ, ช่องทางเดิน, สถาบันทดสอบ

– กฎกระทรวงฉบับนี้ได้กำหนดให้สถานบริการเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32(2) อีกประเภทหนึ่งด้วย

– แบ่งสถานบริการเป็น 6 ประเภท (ประเภท ก – ฉ) ตามลักษณะอาคารและขนาด”พื้นที่บริการ” ได้แก่
*** สถานบริการที่เป็นอาคารเดี่ยว: ประเภท ก พื้นที่บริการน้อยกว่า 200 ตร.ม., ประเภท ข พื้นที่บริการ 200 – ไม่ถึง500 ตร.ม., ประเภท ค พื้นที่บริการ 500 ตร.ม. ขึ้นไป
*** สถานบริการที่ตั้งอยู่ในอาคารที่ประกอบกิจการหลายประเภทรวมกัน: ประเภท ง พื้นที่บริการ 200 – ไม่ถึง 500 ตร.ม.,ประเภท จ พื้นที่บริการ 500 ตร.ม. ขึ้นไป
*** สถานบริการที่เป็นอาคารชั้นเดียว และไม่มีผนังภายนอกหรือมีผนังภายนอกซึ่งมีความยาวรวมกันน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวเส้นรอบรูปภายนอกของพื้นที่อาคารที่อยู่ภายใต้หลังคาคลุม: ประเภท ฉ พื้นที่บริการ 200 ตร.ม. ขึ้นไป

– ประเภท ข และ ค (อาคารเดี่ยว ตั้งแต่ 200 ตร.ม. ขึ้นไป) ที่ดินด้านใดด้านหนึ่งจะต้องยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร และติดถนนสาธารณะที่มี”ผิวการจราจร”กว้างไม่น้อยกว่า 7 เมตร (ข้อสังเกต: ไม่ใช่ขนาดความกว้างของถนน แต่เป็นผิวการจราจรเท่านั้น) และต้องมีที่ว่างโดยรอบอาคารกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร

– ประเภท ง และ จ (ที่อยู่ในอาคารหลายกิจการ) ต้องตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีบันไดหนีไฟอย่างน้อย 2 ทาง ที่มีขีดความสามารถในการระบายคนออกสู่ภายนอกอาคารในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง

– ประเภท ก และ ฉ (อาคารเดี่ยว น้อยกว่า 200 ตร.ม. และอาคารชั้นเดียวมีผนังภายนอกน้อยกว่า 1/2 เส้นรอบรูป) การติดตั้งวัสดุ ระบบและอุปกรณ์ประกอบอาคาร กำหนดขั้นต่ำไว้ซึ่งน้อยกว่าประเภทอื่นๆ (ดู ข้อ 9 และข้อ 10 ในกฎกระทรวง)

– มีการกำหนดอัตราการทนไฟสำหรับผนังที่กั้นแยกกับกิจการประเภทอื่นและห้องครัว ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง โดยมีข้อผ่อนผันกรณีติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติครอบคลุมพื้นที่สถานบริการทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงได้

– มีข้อกำหนดเกี่ยวกับวัสดุตกแต่งและฉนวนกันความร้อนหลายอย่าง (ดูหมวด 2 ในกฎกระทรวง)

– ประเภท ค และ จ (พื้นที่บริการ 500 ตร.ม.ขึ้นไป) และประเภท ง ที่ตั้งอยู่ในอาคารขนาดใหญ่ ต้องจัดให้มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่นระบบสปริงเกลอร์หรือเทียบเท่า

– ประเภท ค และ จ (พื้นที่บริการ 500 ตร.ม.ขึ้นไป) ที่ไม่มีช่องระบายอากาศสู่ภายนอกโดยตรง ต้องติดตั้งระบบควบคุมการแพร่กระจายของควัน และสายไฟฟ้าที่ใช้กับระบบนี้ต้องทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง

– กำหนดจำนวน “ทางออกและประตูทางออก” โดยสอดคล้องกับ”จำนวนคนสูงสุด”ที่อยู่ในพื้นที่สถานบริการ ได้แก่ ไม่เกิน 50 คน ไม่น้อยกว่า 1 แห่ง, ไม่เกิน 200 คน 2 แห่ง, ไม่เกิน 400 คน 3 แห่ง, ไม่เกิน 700 คน 4 แห่ง, ไม่เกิน 1,000 คน 5 แห่ง และตั้งแต่ 1,001 คนขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 6 แห่ง หากมีชั้นลอยหรือระเบียง ก็ะต้องมีทางออกสำหรับชั้นลอยหรือระเบียงตามเกณฑ์ดังกล่าวด้วย และหากมีเวทีการแสดงก็ต้องมีทางออกหลังหรือข้างเวทีเพิ่มอีก 1 แห่งด้วย ส่วน”จำนวนคนสูงสุด”ให้คำนวณจากอัตราที่กำหนดให้สำหรับประเภทพื้นที่ต่างๆ (ดู ตารางที่ 2 ในกฎกระทรวง)

– หากมีทางออกและประตูทางออก 2 แห่งขึ้นไป อย่างน้อยคู่หนึ่งจะต้องมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 1/2 ของเส้นทแยงมุมที่ยาวที่สุดของสถานบริการ

– ช่องทางออกหรือประตูทางออกแต่ละแห่งจะต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 0.84 เมตร และความกว้างรวมกันทุกแห่งจะต้องไม่น้อยกว่าค่าผลคูณระหว่าง จำนวนคนสูงสุด กับ ตัวคูณความกว้างต่ำสุดต่อคน ที่กำหนดไว้ด้วย (ดู ตารางที่ 6) ตัวคูณดังกล่าวกำหนดไว้ที่ 8 มม.ต่อคน และผ่อนผันเป็น 6 มม.ต่อคนในกรณีที่ติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

– ต้องกำหนดให้มีทางออกหลักอย่างน้อย 1 แห่งที่มีความกว้างรองรับปริมาณคนได้ไม่น้อยกว่า 1/2 ของจำนวนคนสูงสุด แต่ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร

– ถ้าพื้นที่บริการอยู่ชั้นสองขึ้นไป ทางออกหรือประตูทางออกต้องอยู่ห่างจากบันไดหนีไฟแห่งใดแห่งหนึ่งไม่เกิน 45 เมตร (วัดตามแนวทางเดิน) ถ้าพื้นที่บริการอยู่ระดับพื้นดิน ทางออกหรือประตูทางออกต้องเปิดสู่ภายนอกอาคารโดยตรงหรือห่างจากทางออกสู่ภายนอกอาคารแห่งใดแห่งหนึ่งไม่เกิน 45 เมตร (วัดตามแนวทางเดิน)

– ต้องมีจำนวน “ทางหนีไฟ” สอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุด คือ ไม่เกิน 500 คน ไม่น้อยกว่า 2 แห่ง, 501-1,000 คน ไม่น้อยกว่า 3 แห่งและ 1,001 คนขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 4 แห่ง โดยมีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่าผลคูณระหว่างจำนวนคนสูงสุดกับตัวคูณความกว้างต่ำสุดต่อคน ทั้งนี้ ช่องประตูในเส้นทางหนีไฟต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 0.84 เมตร และบันได(รวมถึงทางลาดหนีไฟ)ต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 1.10 เมตร(ยกเว้นกรณีดัดแปลงอาคาร ก็ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 หรือ 55 แล้วแต่กรณี)

– อัตราการทนไฟสำหรับส่วนปิดล้อมของทางหนีไฟ 2 ชั่วโมงสำหรับอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ และ 1 ชั่วโมงสำหรับอาคารประเภทอื่น ส่วนช่องทางเดินที่นำไปสู่ทางหนีไฟต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง สำหรับผนังที่ใช้กันทั่วไป ได้กำหนดไว้ให้ว่าผนังก่ออิฐ 100 มม. อัตรา 1 ชั่วโมง ผนังก่ออิฐ 180 มม. หรือผนัง คสล. 120 มม. อัตรา 2 ชั่วโมง นอกเหนือจากนี้จะต้องมีเอกสารรับรองจากสถาบันทดสอบ

– นอกจากจะมีข้อกำหนดในการออกแบบต่างๆ แล้ว กฎกระทรวงฉบับนี้ยังได้กำหนดในเรื่อง ผู้ดูแลระบบควมปลอดภัยและการตรวจสอบอาคาร ด้วย (ดู หมวด 7)

ข้อสังเกตเบื้องต้นบางประการ:

1. บทนิยาม “ทางหนีไฟ” เริ่มมีใช้ในกฎกระทรวงสำหรับโรงมหรสพ แต่ในกฎกระทรวงสำหรับสถานบริการฉบับนี้ได้ให้ความหมายที่แตกต่างออกไป

2. ข้อกำหนดหลายอย่างในกฎกระทรวงฉบับนี้มีความเป็นสากลและอ้างอิงสมรรถนะและมาตรฐานมากขึ้น และข้อกำหนดบางอย่างก็ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นจากกฎกระทรวงเรื่องโรงมหรสพ แต่น่าเสียดายที่ข้อกำหนดเหล่านี้ใช้บังคับเฉพาะกับโรงมหรสพและสถานบริการเท่านั้น หากในอนาคตเกิดอัคคีภัยร้ายแรงขึ้นกับอาคารชุมนุมคนประเภทอื่นที่ไม่ใช่โรงมหรสพและสถานบริการ ก็อาจจะใช้เวลาอีก 3-4 ปีเพื่อร่างกฎกระทรวงอีกฉบับสำหรับอาคารประเภทที่เกิดอัคคีภัยนั้น น่าเสียดายที่ไม่ใช้เวลาหลายปีที่ผ่านมาในการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดระบบความปลอดภัยสำหรับอาคารชุมนุมคนทุกประเภทไปในคราวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ออกแบบ อาจนำข้อกำหนดบางอย่างในกฏกระทรวงฉบับนี้ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบเพื่อความปลอดภัยกับพื้นที่ชุมนุมคนประเภทอื่นได้ เช่น จำนวนและความกว้างของทางออกและทางหนีไฟ เป็นต้น

3. สถานบริการ มีความหมายถึงสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการเท่านั้น แต่มีอาคารที่เป็นกิจการเช่นเดียวกับสถานบริการจำนวนไม่น้อยที่ ไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างเป็นสถานบริการตั้งแต่ต้น หรือเมื่อทำการดัดแปลงและ/หรือเปลี่ยนการใช้ให้เป็นสถานบริการก็ไม่ได้ขออนุญาต หรือขออนุญาตเปลี่ยนการใช้เป็นอาคารประเภทอื่นที่ไม่ใช่สถานบริการ นอกจากนี้ มีอาคารที่ประกอบกิจการสถานบริการจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ขอหรือยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานบริการ อาคารต่างๆเหล่านี้อาจจะไม่ได้หรือไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับนี้ก็ได้ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า กฎกระทรวงฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับในทางปฏิบัติได้จริงตามที่ต้องการหรือไม่

 

download

 

Facebook
Twitter
LinkedIn