คิวอพาร์ตเมนต์แสนแท่ง ตรวจความปลอดภัย

คิวอพาร์ตเมนต์แสนแท่ง ตรวจความปลอดภัย

คัดจาก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11-14 มีนาคม 2555

ถึงคิวอาคารพื้นที่  2,000 ตารางเมตร ไม่เกิน 5,000 ตารางเมตรทั่วประเทศ ต้องควักกระเป๋าจ่าย บริษัทรับตรวจสอบความปลอดภัย ตามกฎอาคาร 9 ประเภทของกรมโยธาฯ ดีเดย์ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป เผยเที่ยวนี้เป็นคิวหอพัก-อพาร์ตเมนต์นับแสนตึก เผยกระอักแน่ ส่วนใหญ่ไม่มีบันไดหนีไฟ และพื้นที่จอดรถดับเพลิงหน้าอาคาร แฉยังมีอาคารขนาด 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป เมินจ้างผู้ตรวจสอบอาคาร

แหล่งข่าวจากบริษัทรับตรวจสอบอาคารรายหนึ่ง เปิดเผยว่า วันที่ 25 ตุลาคม 2555 นี้ จะถึงรอบของอาคารพื้นที่ขนาดไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร จะต้องจ้างบริษัทรับตรวจสอบอาคาร  ตรวจสอบความปลอดภัยโครงสร้าง และการใช้อาคารตามกฎกระทรวง จัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคาร ปี 2548 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร ซึ่งเป็น 1 ในอาคาร 9 ประเภท อาทิ ป้ายขนาดใหญ่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงงาน ฯลฯ ที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสอบทุกปี และตรวจสอบใหญ่ทุก 5 ปี พร้อมทำรายงานผลการตรวจสอบส่งให้ท้องถิ่นเพื่อรับรองความปลอดภัยเพื่อใช้งานต่อไป อย่างไรก็ดี อาคารไม่เกิน 5,000 ตารางเมตรหรือประมาณ 2,000 ตารางเมตร ส่วนใหญ่จะเป็นอพาร์ตเมนต์ หอพัก แฟลต เป็นส่วนใหญ่ เพราะคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่จะมีขนาดพื้นที่ที่ใหญ่กว่านี้ คือ ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งได้ตรวจสอบไปแล้วช่วง 1-2 ปีก่อน

สำหรับอพาร์ตเมนต์มองว่า จะกระทบอย่างหนัก เพราะมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและจ้างแม่บ้านพนักงานรักษาความปลอดภัย แม้จะมีรายได้จากการเก็บค่าเช่า แต่มองว่าไม่มาก แต่กลับต้องจ่ายค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษารับตรวจสอบอาคาร ทั้งโครงสร้างภายในภายนอก ระบบความปลอดภัยต่างๆ ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะปฏิบัติตาม และประเมินว่า อาคารเหล่านี้น่าจะเลี่ยงการตรวจสอบ เพราะแม้แต่คอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ก็เลี่ยงเช่นกัน

ทั้งนี้โดยเฉพาะหอพัก-อพาร์ตเมนต์ สูง 3-4 ชั้น ส่วนใหญ่จะมีบันไดขึ้นลงเพียงทางเดียว หรือทางหนีไฟและทางใช้ขึ้น-ลงระหว่างอาคารกับห้องเช่า แต่ในทางปฏิบัติ ทุกอาคารจะต้องมีทางขึ้นลง 2 ทางคือ ทางหนีไฟ 1 แห่ง และทางสำหรับใช้ขึ้นลงอีก 1 แห่ง และหากมีการตรวจสอบจริง บริษัทรับตรวจสอบอาคารจะต้องบอกให้เจ้าของอาคารไปหาพื้นที่เพิ่มเพื่อสร้างทางหนีไฟ เพราะหากเกิดไฟไหม้ขึ้นจริง จะเกิดปัญหาการแย่งใช้ทาง แต่ในทางปฏิบัติย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะทุกอาคารต้องการประหยัดต้นทุน

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า อาคารไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร เฉพาะในกรุงเทพมหานคร(กทม.) หากมองลงมาก็นับไม่ถ้วน มากกว่า 100,000 แห่งขึ้นไป ยังไม่รวมคอนโดมิเนียมขนาด 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป ที่ยังไม่ยื่นตรวจสอบก็มี ประกอบกับเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีน้อยและหลายรายไม่กล้าเซ็นอนุมัติว่าอาคารปลอดภัยหรือไม่ เพราะหากมีปัญหาถล่ม ทรุด ไฟไหม้ เท่ากับเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบด้วย หรือนับจากที่ให้มีการตรวจสอบอาคารตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ทั้งอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ จนถึง 5,000 ตารางเมตร ป้าย ฯลฯ ไม่ได้ยอมยื่นตรวจสอบ และเจ้าหน้าที่ไม่อนุมัติรับรองอาคาร

นอกจากนี้ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ที่มีความเสี่ยงและต้องทำรายงานให้เจ้าของอาคารไปแก้ไข คือพื้นที่ว่างสำหรับจอดรถดับเพลิงกรณีเกิดเพลิงไหม้ เจ้าของอาคารไม่ว่าจะเป็น คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงาน ฯลฯ มักจะนำพื้นที่ว่างบริเวณหน้าอาคารไปใช้ประโยชน์อื่นในเชิงพาณิชย์ หรือ เพื่อจัดทำสาธารณูปโภคเอาใจลูกค้า เช่น เปิดพื้นที่จอดรถ เปิดพื้นที่เช่าค้าขาย พื้นที่ร้านค้า สวนหย่อมหน้าโครงการ สระว่ายน้ำ ฯลฯ เหล่านี้มองว่าไม่เหมาะสมและต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย  นอกจากนี้อาคารสูงใหญ่มีปัญหา เพราะช่วงที่ตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยจะทำงาน เช่น สปริงเกลอร์ หรือระบบฉีดน้ำอัตโนมัติ เครื่องปั๊มแรงดันน้ำ ฯลฯ แต่หลังตรวจแล้ว มักจะไม่ให้ความสนใจ

แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ. 2548 ตามกฎหมายควบคุมอาคาร กำหนดโทษในกรณีที่เจ้าของอาคารไม่จัดให้มีการตรวจสอบอาคาร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเป็นรายวันอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท

Facebook
Twitter
LinkedIn