โยธาปรับผังเมืองรวมทั่วไทยป้องน้ำท่วม

โยธาปรับผังเมืองรวมทั่วไทยป้องน้ำท่วม

28 ก.พ. 2555
คัดจาก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 1-3 มีนาคม 2555

กรมโยธาฯ รับลูก รัฐบาล-กระทรวงมหาดไทย ปรับกฎกระทรวงผังเมืองรวมทั่วประเทศกว่า 300 ผัง เพิ่ม แผนป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ ขีดพื้นที่รับน้ำ คูคลอง โซนเสี่ยงห้ามสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน โฟกัสพื้นที่ 8 ลุ่มน้ำ ต้องรับบทหนักฟลัดเวย์ยักษ์ จากภาคเหนือ กลาง ล่าง ยันอ่าวไทย ด้านผัง กทม. ดำเนินการแล้วไร้ปัญหา

นายอุดม พัวสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า จากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกระทรวงมหาดไทยได้มอบให้กรมโยธาธิการฯ พิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวงผังเมืองรวมทั่วประเทศ ด้วยการเพิ่มแผนป้องกันอุทกภัย บรรจุลงในผังเมืองด้วย จากเดิม แต่ละผังจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข 2 ส่วน คือ 1.การใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นสีๆ ว่า แต่ละสีพัฒนาอะไรได้บ้าง เช่น พื้นที่สีแดง หรือที่ดินประเภทพาณิชยกรรม พัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ พื้นที่สีเหลือง หรือที่ดิน ประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นน้อยเป็นต้น 2. ผังโครงข่ายคมนาคม ที่จะกำหนดแนวของถนนทั้งปัจจุบัน และโครงข่ายในอนาคตที่แต่ละหน่วยงานหรือท้องถิ่นจะเข้าไปดำเนินการให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเมือง เช่น ถนนวงแหวนเป็นต้น และ 3. ที่จะต้องเพิ่มเข้าไปหลังจากเกิดปัญหาอุทกภัย คือ แผนป้องกันและรับมืออุทกภัยที่จะเกิดขึ้น ทั้งระยะสั้นระยะยาว โดยในผังจะกำหนดว่าโซนไหนเป็นพื้นที่ลุ่ม เป็นที่รับน้ำ หรือ ฟลัดเวย์ โดยเฉพาะพื้นที่ เรือกสวนไร่นา

นอกจากนี้ จะต้องกำหนดแนวคูคลองให้ชัดเจน แสดงไว้ในผังนั้นด้วย โดยเฉพาะคลองหลักๆสายสำคัญ ขณะเดียวกัน จะต้องกำหนดพื้นที่ห้ามก่อสร้างที่อยู่อาศัยหรือโรงงานอุตสาหกรรม หากกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำหรือเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งจะต้องกำหนดให้ชัดเจน รวมถึงการกำหนดโครงข่ายจราจรจะต้องไม่ขวางทางน้ำ
กำหนดพิกัดระดับน้ำทะเลปานกลางในพื้นที่ หากต่ำมากก็อยู่อาศัยไม่ได้ ต้องอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเท่าใด ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่

อย่างไร ก็ดีกฎกระทรวงผังเมืองรวม ที่ต้องปรับและประกาศใช้แล้ว จำนวนกว่า 150 ผัง และกฎกระทรวงผังเมืองรวมที่อยู่ระหว่างยกร่างจำนวนกว่า 160 ผัง รวมกว่า 300 ผังทั่วประเทศ หรือ ทุกผังจะต้องเพิ่มเกณฑ์แผนป้องกันน้ำท่วมเข้าไปดังกล่าว ซึ่งทุกผังทุกพื้นที่ต้องตระหนักและบรรจุเป็นข้อบังคับในผังเมืองรวม หากพื้นที่ไหนไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ไม่ได้แล้ว ตลอดจนสร้างอาคารบ้านเรือน โรงงาน จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งทุกคนต้องตื่นตัวและตระหนักในเรื่องนี้

ที่สำคัญยิ่งพื้นที่ 8 ลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ป่าสัก ท่าจีน สะแกกรัง และเจ้าพระยา ผังเมืองในจังหวัดดังกล่าว จะต้องเพิ่มพื้นที่รับน้ำหรือฟลัดเวย์มากขึ้น และห้ามปลูกสร้างบ้านพักอาศัยหรือโรงงานอุตสาหกรรม ต้องห้ามสร้างในพื้นที่เสี่ยงและกำหนดโซนให้สร้างในพื้นที่ควรสร้าง

นายปรีชา รณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบให้กรมโยธาธิการฯ ปรับปรุงผังเมืองรวมทั่วประเทศให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาอุทกภัย และจัดหาพื้นที่รับน้ำคูคลองเพื่อรองรับในอนาคตและกำหนดโซนพื้นที่ เสี่ยงน้ำท่วมให้ชัดเจน

ด้าน ม.ร.ว. เปรมสิริ เกษมสันต์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ผังเมืองรวมกทม.ฉบับที่อยู่ระหว่างปรับปรุงและคาดว่าจะบังคับใช้ประมาณปลายปี 2555 อย่างเร็ว หรืออย่างช้าปี 2556 นั้น ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่น้ำท่วม แล้ว 2 จุดใหญ่ คือ โซนตะวันตกของกทม.ให้คงเป็นพื้นที่เขียวทแยงขาวหรือ ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม พัฒนาที่อยู่อาศัย ประเภทบ้านเดี่ยว ทำกิจกรรมประเภทเกษตรกรรม และให้เป็นพื้นที่ระบายน้ำ จากที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สีเหลืองมีกรอบเขียว ส่วนพื้นที่โซนตะวันออก จะคงพื้นที่เขียวลาย หรือพื้นที่ฟลัดเวย์ รอบสถานีรถไฟฟ้าลาดกระบังของแอร์พอร์ตลิงค์ จากที่เตรียมจะกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงหรือย่านพาณิชยกรรม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันน้ำท่วมรวมถึงการกำหนดระยะถอยร่นแนวคลอง

Facebook
Twitter
LinkedIn