หลักคิดด้านคุณค่าของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในประเทศไทย
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ยงธนิศร์ พิมลเสถียร
หนังสือเล่มที่ VI ในโครงการ The Ten Books on Architecture by ASA
#TenBooksbyASA
หนังสือชุดองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรม 10 เล่ม โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
“ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโครงการจัดทำหนังสือเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมซึ่งจะเป็นหนึ่งในหนังสือชุดองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรม 10 เล่ม ที่ทางสมาคมฯ จะจัดพิมพ์เผยแพร่แก่สถาปนิกและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมซึ่งมีอยู่หลายด้าน
ในช่วงเวลากว่า 30 ปีที่มีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม โดยงานแรกเริ่มใน พ.ศ. 2530 ผู้เขียนมีความเห็นว่า การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในประเทศไทยนั้นมีความก้าวหน้าไปจากปีที่เริ่มทำงานเป็นอันมากในแง่ของการดำเนินการจากภาคประชาชนและชุมชน จะเห็นได้จากการริเริ่มการอนุรักษ์อาคารจากเจ้าของอาคารหรือนักพัฒนาโครงการหรือผู้นำชุมชนที่เห็นคุณค่าความสำคัญของมรดกสถาปัตยกรรม แต่ในแง่ของภาครัฐยังเน้นเพียงการบังคับควบคุมซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในด้านการปกป้องอาคารและพื้นที่ทางวัฒนธรรมจากการทำลายโดยโครงการสมัยใหม่จากนักพัฒนาที่เห็นประโยชน์เพียงด้านเดียว แต่ในอีกทางหนึ่งหากเอกชนหรือชุมชนผู้ใดมีความประสงค์จะอนุรักษ์อาคาร รัฐกลับไม่มีเอกสาร แนวทาง หรือมาตรการใด ๆ ที่เป็นกรอบให้สามารถดำเนินการได้ มีแต่หน่วยงานของรัฐเท่านั้นที่ดำเนินการอนุรักษ์และยังเน้นในเรื่องของโบราณสถานเป็นหลัก
เมื่อสมาคมสถาปนิกสยามฯ ดำริจะทำหนังสือเกี่ยวกับการอนุรักษ์ในครั้งนี้ ผู้เขียนจึงได้เรียนทางสมาคมฯ ว่าหากจะเป็นผู้เขียนก็จะขอเขียนในเรื่องที่เป็นพื้นฐานจริง ๆ ไม่เป็นเรื่องหวือหวาหรือล้ำสมัยไปมาก เนื่องจากเหตุผลดังข้างต้นที่ว่า ผู้สนใจและตั้งใจจะทำงานอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมให้ได้ดีในประเทศไทยนั้นมีมากแต่ไม่มีกรอบแนวทางที่เป็นพื้นฐานให้ทำได้เลย เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จึงได้เน้นในเรื่องของพื้นฐานการอนุรักษ์แต่ก็เป็นพื้นฐานเฉพาะแนวทางที่เรียกว่า การอนุรักษ์แบบใช้ฐานคุณค่า เป็นหลัก ที่เลือกเขียนในแนวทางนี้ก็เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศที่เรามักจะใช้อ้างอิงเป็นกรณีศึกษา ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังว่าหนังสือนี้จะใช้เป็นเอกสารแนวทางในด้านการอนุรักษ์ที่ครอบคลุมได้ทั้งหมด ในทางปฏิบัติคงมีรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละโครงการและแต่ละพื้นที่ บางแห่งอาจมีแนวคิดที่ดีกว่าในหนังสือเล่มนี้ก็ได้ แต่ก็หวังว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจที่จะริเริ่มทำการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมได้ไม่มากก็น้อย”