แนวทางการพิจารณารายงาน EIA

แนวทางการพิจารณารายงาน EIA

มีสมาชิกสมาคมหลายท่านประสบปัญหาในการออกแบบโครงการที่ต้องมีการจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ว่าแม้จะได้ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเพิ่มเติมหรือแตกต่างไปจากกฎหมายควบคุม อาคารอีกด้วย จนทำให้เกิดความยากลำบากในการปรับปรุงแก้ไขแบบในบางกรณี

ในเรื่องนี้ ขอเรียนให้สมาชิกทราบเป็นข้อมูลว่า แม้จะยังไม่มีข้อกำหนดตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ออกมาใช้บังคับอย่างชัดเจน แต่ในการพิจารณารายงาน EIA ผู้พิจารณาจะพิจารณาตามเกณฑ์ที่ได้วางไว้เพื่อใช้ประกอบการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม ซึ่งบางเรื่องมีผลต่อการออกแบบตั้งแต่ขั้นต้นๆ เช่น โครงการด้านที่พักอาศัย ที่เป็นอาคารอยู่อาศัยรวม อาคารโรงแรม อาคารโรงพยาบาล อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ให้จัดพื้นที่สีเขียวในสัดส่วน บริเวณพื้นดินชั้นล่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่สีเขียวทั้งหมด โดยพื้นที่สีเขียวต่อผู้พักอาศัยต้องไม่น้อยกว่า 1 ตร.ม. ต่อคน และจะต้องเป็นไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่สีเขียวดังกล่าว

นอกจากนี้ยังได้มีมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการที่พักอาศัย บริการชุมชน และสถานที่พักตากอากาศ กำหนดให้ โครงการอยู่อาศัยรวมที่มีจำนวนอาคารตั้งแต่ 2 อาคารขึ้นไป บนพื้นที่เดียวกัน และมีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ให้ถือเสมือนว่าเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งจะต้องดำเนินการ ดังนี้

  1. มีระยะถอยร่นจากแนวเขตที่ดิน ไม่น้อยกว่า 6 เมตร
  2. ระบบป้องกันเพลิงไหม้ และกฎเกณฑ์ความปลอดภัยให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร ที่ระบุให้อาคารขนาดใหญ่ต้องจัดให้มี

แนวทางดังกล่าวข้างต้น ใช้สำหรับการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2548 เป็นต้นมา

Facebook
Twitter
LinkedIn