พพ.แก้ไขเพิ่มเติมและจัดระเบียบกฎหมายอนุรักษ์พลังงาน

พพ.แก้ไขเพิ่มเติมและจัดระเบียบกฎหมายอนุรักษ์พลังงาน

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2550 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กับ ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อรวบรวมความคิดเห็น เรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลำดับรอง ออกตามความในร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ …) พ.ศ. ….” จัดที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสมาคมสถาปนิกสยามฯ มี ผศ. ดร. อรรจน์ เศรษฐบุตร อุปนายกฝ่ายวิชาการ และคุณสุพินท์ เรียนศรีวิไล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลกฎหมายอาคาร เป็นผู้แทนเข้าร่วมการสัมมนา

ความเป็นมาคือ พพ. ได้จัดทำร่างแก้ไขพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งปัจจุบัน ครม. ได้อนุมัติในหลักการแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงเดือนพฤษภาคม และสามารถนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ในเดือนมิถุนายน 2550

ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จะเริ่มใช้บังคับ 180 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งในระหว่างนั้น จะต้องจัดทำกฎหมายลูกต่างๆ ออกใช้เพิ่มเติมและแทนฉบับเดิม การสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการนำร่างกฎหมายลำดับรองจำนวน 5 ฉบับ กับรายละเอียดซึ่งจะออกเป็นประกาศกระทรวง มาให้ผู้ร่วมสัมมนาช่วยแสดงความคิดเห็นเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุง ร่างกฎหมายเหล่านั้น

ร่างกฎหมายลำดับรองบางฉบับและประเด็นที่น่าสนใจสำหรับสมาชิกซึ่งจะขอเล่าให้ฟังมีดังนี้

ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ซึ่งเดิมแยกเป็นคนละฉบับ และบรรจุวิธีการคำนวณปริมาณการใช้พลังงานเอาไว้ด้วย ในร่างใหม่ ได้รวมไว้ในฉบับเดียวกัน และกำหนดให้วิธีการคำนวณปริมาณการใช้พลังงานให้ออกเป็นประกาศกระทรวง ซึ่งจะสะดวกต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทาง เศรษฐกิจและสังคม

อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในร่างพรฎ.นี้ กำหนดให้ยกเว้นสำหรับอาคารของทางราชการด้วย (เดิมไม่ยกเว้น) ซึ่งผู้ร่วมสัมมนาหลายท่านไม่เห็นด้วยที่ภาครัฐซึ่งเป็นผู้ผลักดันการ อนุรักษ์พลังงานแต่ตัวเองไม่ต้องปฏิบัติ อีกทั้งภาครัฐควรเป็นตัวอย่างให้แก่ภาคเอกชน

อีกประเด็นหนึ่งคือ พพ.นำเสนอประเด็นที่แก้ไขจากเดิมด้วยว่า หามาตรการกำหนดการเข้าเป็นและหลุดพ้นจากการควบคุมโดยดูที่ปริมาณการใช้ พลังงานในรอบปีว่ามากกว่าหรือน้อยกว่า 20 ล้านเมกกะจูล แต่ในร่างพรฎ. กลับไม่แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีข้อกำหนดให้สามารถหลุดพ้นได้อย่างไร และหากเป็นอาคารที่ใช้เครื่องวัดไฟฟ้า หรือติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดหนึ่งพันกิโลวัตต์ขึ้นไป แม้ในรอบปีจะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 20 ล้านเมกกะจูล ก็ไม่สามารถหลุดจากการเป็นอาคารควบคุมได้

ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดประเภทและขนาดอาคาร และการออกแบบอาคารเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน เป็นเรื่องใหม่ที่จะมีผลอย่างมากต่อการทำงานออกแบบอาคาร เพราะเดิมนั้น กฎหมายอนุรักษ์พลังงานเน้นที่การใช้พลังงานของอาคารที่ก่อสร้างแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ออกแบบอาจละเลยที่จะออกแบบให้อาคารมีการใช้พลังงานตามที่ กฎหมายกำหนด แล้วไปมีปัญหาแก่เจ้าของอาคารในภายหลัง

ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ จึงบังคับให้อาคารที่จะขออนุญาตก่อสร้าง จะต้องดำเนินการออกแบบ ก่อสร้างหรือดัดแปลงเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานเป็นไปตามข้อกำหนดด้าน มาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนด ซึ่งจะออกรายละเอียดเป็นประกาศกระทรวง ประกอบด้วยข้อกำหนดต่างๆ 5 เรื่อง ได้แก่ ค่า OTTV และ RTTV, มาตรฐานกำลังไฟฟ้าส่องสว่างสูงสุด, มาตรฐานสำหรับระบบปรับอากาศ, มาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ผลิตความร้อน, และมาตรฐานการใช้พลังงานโดยรวม

ประเด็นแรกคือ การกำหนดให้ใช้กับอาคารขนาดตั้งแต่ 2,000 ตร.ม. ขึ้นไป ซึ่งผู้สัมมนาหลายท่านตั้งขอสังเกตว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะอาคารขนาดนี้ จะมีเป็นจำนวนมาก จะทำให้เจ้าของอาคารมีภาระมากขึ้น น่าจะใช้มาตรการจูงใจมากกว่ามาตรการบังคับหรือไม่ จะมีกลไกในการควบคุมอย่างไรหรือให้เป็นความรับผิดชอบของผู้ออกแบบ ฯลฯ ทางพพ. ยืนยันว่า ได้ปรึกษาหารือกับกรมโยธาฯแล้ว และไม่น่าจะเป็นภาระเพิ่มขึ้น เพราะสามารถคำนวณได้โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป และทางพพ.จะจัดการอบรมให้แก่ผู้ออกแบบ นอกจากนั้น ในข้อกำหนดยังมีลักษณะยืดหยุ่นว่า หากอาคารไม่สามารถทำได้ตามข้อกำหนดมาตรฐานบางอย่าง ก็สามารถใช้ข้อกำหนดอื่นที่ดีกว่ามาตรฐานมาชดเชยได้โดยวิธีการคำนวณเปรียบ เทียบการใช้พลังงานโดยรวม (Whole Building Compliance)

ประเด็นต่อมาคือ การกำหนดค่ามาตรฐาน OTTV, RTTV และกำลังไฟฟ้าส่องสว่างสูงสุด ได้กำหนดให้ละเอียดมากกว่าเดิม โดยแยกตามประเภทอาคาร 3 ประเภท คือ (ก) สำนักงาน สถานศึกษา (ข) ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าย่อย ศูนย์การค้าหรือซุปเปอร์สโตร์ (ค) โรงแรม โรงพยาบาล สถานพักฟื้น; อย่างไรก็ตาม ยังมีประเภทอาคารอื่นๆ อีกหลายประเภทที่ไม่ได้ระบุไว้ในร่าง เช่น อาคารอยู่อาศัยรวมโรงมหรสพ สถานบริการ โรงงาน เป็นต้น

อาคารทั้งสามประเภท ในร่างประกาศกระทรวงที่ พพ. นำเสนอ กำหนดให้มีค่า OTTV ไม่เกิน 50, 40, 30 Wm-2 ตามลำดับ, และค่า RTTV ไม่เกิน 15, 12, 10 Wm-2 ตามลำดับ, ค่ากำลังไฟฟ้าส่องสว่างสูงสุด 14, 12, 18 Wm-2 ตามลำดับ

ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ อยากให้สมาชิกได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะมีผลต่อการทำงานออกแบบอาคาร และการคำนวณต่างๆ ไม่จำเป็นต้องอาศัยวิศวกรงานระบบ เสมอไป สถาปนิกก็สามารถทำได้และเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุเปลือกอาคารดี กว่าใครอยู่แล้ว จึงควรเพิ่มศักยภาพทางวิชาชีพในการศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย

25 เม.ย. 2550

Facebook
Twitter
LinkedIn