แก้ไขกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม

แก้ไขกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ประกาศใช้ พระราชบัญญัติ กนอ. (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2551 ภายใต้กฎหมาย กนอ.ล่าสุดนี้ “เขตประกอบการเสรี” จะมาแทนที่ “เขตอุตสาหกรรมส่งออก” และในเขตอุตสาหกรรมทั่วไปจะสามารถประกอบกิจการบริการได้ นอกจากนั้นกฎหมาย ฉบับใหม่ยังเอื้ออำนวยต่อการเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้มีการแก้ไขบทบัญญัติบางประการเพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการเพื่อให้ผู้พัฒนานิคมฯ ร่วมดำเนินงานและผู้ประกอบการสามารถลดระยะเวลา ขั้นตอน และการให้บริการต่างๆ ได้ครอบคลุมอีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล นอกจากนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมก็มีความชัดเจนขึ้น

สาระสำคัญของพรบ.ฉบับใหม่นี้ได้แก่

1. กำหนดให้มีการประกอบกิจการบริการในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป – แต่เดิมนั้น ผู้ประกอบกิจการบริการไม่สามารถถือกรรมสิทธ์ิที่ดินในเขตอุตสาหกรรมทั่วไปได้ แต่เนื่องจากในปัจจุบันกิจการเกี่ยวกับ “การบริการ” นั้นมีความจำเป็นมากขึ้นตามลำดับ เช่น การบริการด้านขนส่ง คลังสินค้า ศูนย์ฝึกอบรม สถานพยาบาล เป็นต้น จึงแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “เขตอุตสาหกรรมทั่วไป” ให้ครอบคลุมถึงเขตพื้นที่ที่กำหนดไว้สำหรับการบริการ และแก้ไขคำว่า “ผู้ประกอบอุตสาหกรรม” ให้รวมถึงผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการบริการด้วย

2. แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพันธกรณีของ WTO
(ก) ปรับเขตอุตสาหกรรมส่งออก เป็นเขตประกอบการเสรี โดยไม่กำหนดเงื่อนไขการส่งออก เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีว่าด้วยความตกลงขององค์การการค้าโลก ในความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ในส่วนที่เข้าข่ายเป็นการอุดหนุนที่ต้องห้าม
(ข) แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “เขตอุตสาหกรรมส่งออก” เป็นคำว่า “เขตประกอบการเสรี” เพื่อมิให้มีถ้อยคำแสดงถึงเงื่อนไขบังคับว่าจะต้องส่งออก และแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามอื่นที่เกี่ยวข้อง

3. ลดขั้นตอนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมประเภทเขตประกอบการเสรีและการดำเนินการต่าง ๆ ในเขตประกอบการเสรี เพื่อให้การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมประเภทเขตประกอบการเสรีเป็นไปโดยสะดวก คล่องตัวในเชิงเศรษฐกิจและพาณิชย์ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเช่นเดียวกับเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร โดยออกเป็นประกาศคณะกรรมการ กนอ. นอกจากนั้นยังปรับปรุงในเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางอากร ฯลฯ

4. ประเด็นเรื่องการจัดสรรที่ดินของเอกชนในนิคมอุตสาหกรรม – ให้การจัดสรรที่ดินของเอกชนในเขตพื้นที่ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมาย และแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ซึ่งบัญญัติมิให้นำกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินมาใช้บังคับกับการจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่น (หมายความรวมถึงกฎหมายว่าด้วย กนอ. ด้วย)

ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน เดิมกำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ส่วนการอนุญาตเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กนอ. แต่ในพระราชบัญญัติฉบับใหม่กำหนดให้การจัดสรรที่ดินในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมาย และให้เป็นไปตามหลักการ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ กนอ. กำหนด ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น และน่าจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการเพื่อจัดสรรที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมด้วย

View

Facebook
Twitter
LinkedIn