กทม.จัดประชุมเรื่องความปลอดภัยอาคาร

กทม.จัดประชุมเรื่องความปลอดภัยอาคาร

เมื่อ วันที่ 27 กันยายน 2549 สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้จัดให้มีการประชุมเรื่อง “การเสริมสร้างความปลอดภัยของอาคารและป้ายโฆษณา” โดยเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสมาคมสถาปนิกสยามฯ เข้าร่วมหารือในมาตรการต่างๆในด้านความปลอดภัยของอาคาร มี รศ.ดร. บรรณโสภิษฎ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯ เป็นประธานในที่ประชุมในช่วงแรก ก่อนที่จะขอตัวไปปฏิบัติภารกิจเร่งด่วนเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม ให้ ผอ.จิม พันธุมโกมล รับช่วงต่อแทน


การประชุมได้มีการปรึกษาหารือใน 5 เรื่อง คือ การจัดระเบียบป้ายโฆษณา, การตรวจสอบอาคารขณะก่อสร้างและอาคารร้าง, อาคารที่ต้องทำประกันภัยความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก, อาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ, และการพิจารณาอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร


ปัญหาป้ายโฆษณา ปัจจุบันใน กทม. จากการสำรวจในปี 2548 มีป้ายบนดิน 785 ป้าย ป้ายบนอาคาร 538 ป้าย ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ไม่มีใบอนุญาต หรือตรวจสอบไม่ได้ว่ามีใบอนุญาตหรือไม่ ทุกๆปีจะมีปัญหาป้ายล้ม ในปี 2548 มีป้ายล้มถึง 18 ป้าย นอกจากนี้ยังมีปัญหาป้ายที่บดบังทัศนียภาพ และมีภาพหรือข้อความที่ไม่เหมาะสม


รศ. ดร. เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้แทน วสท. และสภาวิศวกร ได้ให้ความเห็นว่า จากการศึกษาพบว่าค่าแรงลมตามกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันยังต่ำไปมาก ดังนั้น แม้จะออกแบบโดยถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม ก็พูดไม่ได้ว่าป้ายนั้นมีความมั่นคงเพียงพอ


สำหรับปัญหาที่มีป้ายผิดกฎหมายสร้างขึ้นจำนวนมากนั้น นอกจากเพราะมีผลประโยชน์ทางการค้าแล้ว ยังเป็นเพราะป้ายสามารถสร้างได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับการใช้การแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ฝ่ายเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ไม่สามารถควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง ตั้งแต่ปล่อยให้มีการก่อสร้างโดยไม่ได้ขออนุญาต ไปถึงการบังคับรื้อถอนตามกระบวนการทางกฎหมาย

ปัญหาอาคารร้าง จากการสำรวจครั้งหลังสุด (ปี 2548) มี 508 โครงการ ในจำนวนนี้มีถึง 247 โครงการที่ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ บางแห่งปล่อยให้เป็นแหล่งซ่องสุมเสพยา โครงการเหล่านี้แทบจะทั้งหมดที่ใบอนุญาตหมดอายุลงแล้ว และส่วนใหญ่ไม่สามารถขออนุญาตใหม่ตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ (เช่น กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 และข้อบัญญัติ กทม. 2544) บางโครงการอยู่ในความดูแลของ บสท. ซึ่งค่อยๆ ทยอยขายไปตามสภาพ ผู้ซื้อรับภาระปัญหาเรื่องใบอนุญาตไป กรมโยธาธิการและผังเมืองได้พยายามออกกฎกระทรวงที่จะยกเว้นผ่อนผัน (นิรโทษกรรม) ให้ แต่ติดขัดเนื่องด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทักท้วงว่า เป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถออกได้


อาคารที่ต้องทำประกันภัยบุคคลภายนอก ตามกฎกระทรวงซึ่งออกใช้บังคับเมื่อ 11 ส.ค. 2548 (ดูข่าว https://asa.or.th/2008/index.php?q=node/89) มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 14 ก.พ. 2549


อาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ตามกฎกระทรวงซึ่งออกใช้บังคับแล้ว (ดูข่าว https://asa.or.th/2008/index.php?q=node/99 และ https://asa.or.th/2008/index.php?q=node/103) อาคารที่อยู่ในข่ายควบคุม ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบอาคารเป็นครั้งแรกภายใน 2 ปี นับแต่กฎกระทรวงใช้บังคับ คือ ภายใน 28 ธ.ค. 2550 ยกเว้นอาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวม ภายใน 5 ปี (25 ต.ค. 2553) หรือ 7 ปี (25 ต.ค. 2555) ในกรณีมีพื้นที่ไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร


ในเรื่องนี้มีความกังวลต่างๆ เช่น จำนวนผู้ตรวจสอบจะเพียงพอหรือไม่ คุณสมบัติและความรับผิดชอบของผู้ตรวจสอบจะเป็นอย่างไร และอัตราค่าตรวจสอบจะควบคุมได้หรือไม่ ซึ่งผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบตามข้อกฎหมาย


นอกจากนี้ในอนาคต ยังอาจเกิดปัญหากับอาคารชุด ซึ่งหลายแห่งที่นิติบุคคลอาคารชุด ไม่สามารถเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้ครบ ทำให้อาจไม่สามารถว่าจ้างผู้ตรวจสอบได้


การพิจารณาอนุญาตก่อสร้างดัดแปลงอาคาร ปัจจุบันการขออนุญาตหากเป็นอาคารสูงไม่เกิน 4 ชั้น หรือไม่เกิน 15 เมตร จะขออนุญาตที่ เขต นอกจากนั้นขออนุญาตที่กองควบคุมอาคาร กทม. ในปัจจุบัน ผู้ว่ากทม. มีนโยบายลดระยะเวลาในการออกใบอนุญาตลง ซึ่งกำหนดไว้ให้ออกใบอนุญาต (กรณีไม่มีการแก้ไข) ได้ภายใน 10 วัน ถึง 30 วัน (ดูตารางข้างล่าง) ซึ่งสามารถปฏิบัติได้แล้วประมาณ 60-70 %

ขออนุญาตที่กอง : อาคารทั่วไป 25 วัน / อาคารสูง, ขนาดใหญ่พิเศษ 30 วัน


ขออนุญาตที่เขต : บ้านไม่เกิน 300 ตร.ม. 10 วัน / อาคารอื่นๆ 15 วัน


การลดระยะเวลาออกใบอนุญาต จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจ่ายเงินใต้โต๊ะลงไปได้ ซึ่งทาง กทม. พบว่ายังมีการจ่ายเงินผ่านโบรกเกอร์อยู่บ้าง
กทม. ยังได้ชี้ให้เห็นปัญหาเกี่ยวกับการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ซึ่งมีหลายโครงการที่ออกแบบโดยไม่ถูกต้อง และกทม.ต้องแจ้งข้อทักท้วงให้ทำการแก้ไข แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากเจ้าของโครงการ เจ้าพนักงานต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งทำให้เป็นภาระอย่างมาก


นอกจากนี้ กทม.ยังเชื่อว่ามีโครงการเป็นจำนวนไม่น้อยที่วุฒิวิศวกรและวุฒิสถาปนิกรับ จ้างเซ็นแบบโดยไม่ได้ออกแบบเองหรือไม่ได้ตรวจสอบแบบนั้นเลย เช่น ในปี 2547 มีผู้ออกแบบเดียวกันที่เซ็นแบบมากถึง 80 โครงการไปจนถึง 273 โครงการ (เฉลี่ยมากกว่า 1 โครงการต่อ 1 วันทำการ) ซึ่งผู้แทนจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ และ วสท. ได้เสนอแนะให้ กทม. ทำหนังสือชี้ประเด็นให้ทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการทางด้านจรรยาบรรณต่อไป

Facebook
Twitter
LinkedIn