กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต

กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต

9 ส.ค. 2553
 
                ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออก “ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2553” เพื่อใช้แทนฉบับเดิม พ.ศ. 2546 ที่จะหมดอายุลงในเดือน กันยายน 2553 ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดอายุใช้บังคับ 5 ปี คือตั้งแต่ 31 ก.ค. 2553 ถึง 30 ก.ค. 2558 มีการปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมข้อกำหนดในรายละเอียดบางอย่าง พอสรุปในส่วนที่น่าสนใจโดยเน้นในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ดังนี้
 
การกำหนดบริเวณ
                เมื่อเทียบกับประกาศฯฉบับเดิมแล้ว การแบ่งบริเวณยังคงเหมือนเช่นเดิมเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม บริเวณที่มีการกำหนดแนวเขตพื้นที่ในรายละเอียด เช่น ย่านอาคารเก่า เขตหนาแน่นสูงมาก มีการใช้ข้อความที่ละเอียดกว่าเดิม จึงอาจจำเป็นจะต้องตรวจสอบจากตัวประกาศฯให้ชัดเจนต่อไป รวมทั้งในบริเวณที่ 5(1) ซึ่งอ้างอิงตามที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมตามผังเมืองรวม ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต (ผังเมืองรวมภูเก็ตฉบับปัจจุบันออกใช้บังคับในปี พ.ศ. 2548)
                สำหรับบริเวณที่ 5 ประกาศฯฉบับใหม่นี้ได้แบ่งออกเป็นบริเวณย่อย 3 บริเวณ อีก 2 บริเวณ ได้แก่ บริเวณที่ 5(2) คืออาคารหรือสถานที่รวมทั้งสิ้น 14 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 แห่ง คือ กำแพงเมืองถลาง – บ้านดอน ส่วนบริเวณที่ 5(3) เป็นบริเวณในรัศมี 100 เมตรโดยรอบบริเวณที่ 5(2)
 
กรณีต้องห้ามและข้อยกเว้น
                ยังคงห้ามก่อสร้างฯและกำหนดข้อยกเว้น อาคารประเภทโรงงานอุตสาหกรรมและประเภทอื่นๆ บางประเภทเหมือนประกาศฯฉบับเดิมเป็นส่วนใหญ่ โดยมีการปรับปรุง เช่น การกำหนดประเภทโรงงานที่อาจให้มีได้ในเขตผังเมืองรวม ที่มิใช่ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงงานจำพวกที่ 1 และโรงงานจำพวกที่ 2 ตามบัญชีท้ายประกาศที่มีประมาณน้ำทิ้งไม่เกิน 1,000 ลบ.ม./วัน หรือมีปริมาณความสกปรกของน้ำทิ้งหลังผ่านการบำบัดไม่เกิน 20 กก./วัน นอกจากนี้ ยังเพิ่มข้อยกเว้นสำหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
 
ข้อกำหนดโดยทั่วไป
                ประกาศฯฉบับเดิมของจังหวัดภูเก็ต นับว่ามีข้อกำหนดที่ซับซ้อนกว่าประกาศฯเรื่องมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดอื่นๆ อยู่แล้ว นอกจากการแบ่งบริเวณที่ละเอียดกว่า แล้วข้อกำหนดบางอย่าง เช่น การแบ่งบริเวณตามความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดความสูงของอาคาร ก็มีมาก่อนแล้วในประกาศฯฉบับปี พ.ศ. 2546 และถูกใช้เป็นมาตรฐานในประกาศฯฉบับใหม่ๆ
                ข้อกำหนดเรื่องอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน หรือ F.A.R. ก็ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ประกาศฯฉบับก่อน โดยมีการกำหนดไว้สำหรับบริเวณที่ 4(2) และบริเวณที่ 4(3) (เขตเทศบาลนครภูเก็ต หนาแน่นมาก และ แนาแน่นสูงมาก ตามลำดับ) อย่างไรก็ตามในประกาศฯฉบับใหม่ได้เพิ่ม F.A.R. ให้สูงกว่าเดิม จากไม่เกิน 4:1 สำหรับบริเวณที่ 4(2) และไม่เกิน 5:1 สำหรับบริเวณที่ 4(3) เป็น 6:1 และ 8:1 ตามลำดับ นอกจากเรื่อง F.A.R. แล้ว อัตราส่วนที่ว่างก็มีการปรับปรุงแก้ไขในทางเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 30 ทั้งสองบริเวณ เป็นร้อยละ 35 และร้อยละ 40 ตามลำดับ
                ที่ว่างในบริเวณที่ 2, บริเวณที่ 3, บริเวณที่ 5, บริเวณที่ 6 และบริเวณที่ 8 มีการปรับเปลี่ยนการแบ่งกลุ่มประเภทอาคารใหม่ จากเดิม ที่แบ่งเป็น “อาคารที่พักอาศัย” ที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 กับ”อาคารพาณิช์หรืออาคารอื่น” ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในประกาศฯฉบับใหม่แบ่งเป็น “บ้านเดี่ยว บ้านแฝด อาคารสำนักงาน อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะ” กับ “อาคารพาณิชย์ บ้านแถว ห้องแถว ตึกแถว” โดยข้อกำหนดที่ว่างของแต่ละกลุ่มประเภทอาคารยังคงเดิม ทั้งนี้ ยกเว้นในเขตพื้นที่ที่มีกฎกระทรวงควบคุมอาคารออกใช้บังคับ (บริเวณห้ามก่อสร้างฯ) ในบริเวณที่ 2 ก็ยังคงจะต้องจัดให้มีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เช่นเดิม
                บริเวณที่ไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างใดๆ เลย คือบริเวณที่ 7 ซึ่งมีความสูงเกิน 80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ รวมทั้งกิจการสาธารณูปโภคของรัฐหรือได้รับสัมปทานจากรัฐ แต่ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบในหลายระดับ ตั้งแต่คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศฯฉบับนี้ไปจนถึงคณะรัฐมนตรี
 
ข้อกำหนดตามความลาดชัน
                ในประกาศกระทรวงฯฉบับใหม่นี้ ได้แบ่งข้อกำหนดออกเป็นส่วนๆ ตามความลาดชันของพื้นที่ด้วย แบ่งเป็น ความลาดชัน เกินกว่าร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 35, เกินกว่าร้อยละ 35 ถึงร้อยละ 50 และเกินกว่าร้อยละ 50 ตามลำดับ
                ในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 50 ไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างใดๆ เลย
                สำหรับพื้นที่ความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 20 ไปจนถึงไม่เกินร้อยละ 50 ให้ก่อสร้าง ดัดแปลง ได้เฉพาะบ้านเดี่ยว หรืออาคารที่เป็นอาคารเดี่ยว เท่านั้น มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร สำหรับบริเวณที่ 1 และบริเวณที่ 6 และสูงไม่เกิน 12 เมตร สำหรับบริเวณอื่นๆ (ยกเว้น บริเวณที่ 7)
                พื้นที่ความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 35 กำหนดขนาดแปลงที่ดินต่ำสุดที่จะยื่นขออนุญาต จะต้องไม่น้อยกว่า 100 ตร.วา มีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน 90 ตร.ม. และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของแปลงที่ดินที่ขออนุญาตด้วย
                สำหรับความลาดชันที่เกินกว่าร้อยละ 35 ถึงร้อยละ 50 กำหนดขนาดแปลงที่ดินต่ำสุดที่จะยื่นขออนุญาต ต้องไม่น้อยกว่า 120 ตร.วา มีพื้นที่อาคารต่อหลังไม่เกิน 80 ตร.ม. และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของแปลงที่ดินที่ขออนุญาต
                ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฉบับนี้ ได้กำหนดเรื่องพื้นที่สีเขียวเอาไว้สำหรับที่ว่างในกรณีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป ว่าจะต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างที่ต้องจัดให้มีตามข้อกำหนด โดยจะต้องใช้ไม้ยืนต้นท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลักด้วย
 
หลักเกณฑ์การวัดความสูง
                ในประกาศฯฉบับเดิมมีการกำหนดหลักเกณฑ์การวัดความสูงไว้อยู่แล้ว ข้อแตกต่างคือ ประกาศฯฉบับเดิมกำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวสำหรับบางบริเวณเท่านั้นและใช้เฉพาะอาคารที่สูงไม่เกิน 23 เมตร แต่ในประกาศฯฉบับนี้ให้ใช้เป็นหลักเกณฑ์การวัดความสูงสำหรับทุกบริเวณและทุกอาคาร กล่าวคือ ให้ถือระดับพื้นดินที่ก่อสร้างเป็นหลัก เว้นแต่กรณีมีการปรับระดับพื้นดินจนเท่ากับหรือสูงกว่าถนนสาธารณะ ก็จะให้วัดจากระดับถนนสาธารณะแทน ส่วนกรณีของการก่อสร้างบนเชิงลาดแนวเชิงเขา ให้วัดที่จุดที่ต่ำที่สุดของอาคารหลังนั้น การวัดความสูงจะวัดจนถึงจุดที่สูงที่สุดของอาคาร เว้นแต่เป็นอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาก็ให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด
                การวัดความสูงของอาคารที่ให้ก่อสร้าง ดัดแปลง ได้ตามประกาศฯฉบับนี้ ในบางกรณีจำเป็นจะต้องระมัดระวัง ยกตัวอย่างเช่น ในบริเวณที่ 8 ซึ่งเป็นบริเวณนอกเหนือจากบริเวณที่ 1 ถึง 7 กำหนดให้ความสูงไม่เกิน 23 เมตร ทำให้อาจเข้าใจผิดว่าจะใช้หลักเกณฑ์การวัดความสูงเช่นเดียวกับกฎกระทรวงควบคุมอาคาร ฉบับที่ 33 ได้
 
การจัดทำ IEE หรือ EIA
                สำหรับประเภทอาคารหรือประเภทโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หรือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามเกณฑ์ในประกาศกำหนดประเภทโครงการที่ได้ออกมากก่อนหน้าแล้ว เช่น กรณี โรงแรมหรือที่พักตากอากาศ หรืออาคารอยู่อาศัยรวม ก็ได้เพิ่มเกณฑ์พื้นที่ใช้สอยรวมตั้งแต่ 500 แต่ไม่ถึง 4,000 ตร.ม. สำหรับการต้องจัดทำ IEE และ 4,000 ตร.ม. ขึ้นไป สำหรับการต้องจัดทำ EIA, การจัดสรรที่ดิน ผ่อนคลายลงจากเกณฑ์ไม่เกิน 99 แปลงหรือต่ำกว่า 19 ไร่ จะต้องจัดทำ IEE เป็นไม่เกิน 250 แปลงหรือต่ำกว่า 100 ไร่ หากเกินกว่านี้ก็ต้องจัดทำ EIA
                อีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ กิจการที่มีการนำเอาบ้านพักอาศัย ห้องแถว ตึกแถว หรือบ้านแถว 10-79 หลัง/ห้อง ที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อกัน มาจัดให้บริการในรูปของสถานที่พักลักษณะโรงแรม ก็จะต้องจัดทำ IEE และหากจำนวนหน่วยมากกว่านั้นก็จะต้องจัดทำ EIA
                โครงการอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น เขื่อนกักเก็บน้ำหรืออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรตั้งแต่ 100 ล้านลบ.ม.ขึ้นไป โรงฆ่าสัตว์ และการดำเนินการของทางราชการในพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรม เหล่านี้จะต้องจัดทำ EIA ด้วย
 
ข้อกำหนดควบคุมชายฝั่งทะเลจังหวัดภูเก็ต
                อย่าลืมว่า นอกจากประกาศกระทรวงทรัพยากรฯฉบับนี้ซึ่งเป็นการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีกฎกระทรวงควบคุมอาคาร ซึ่งควบคุมเรื่องการก่อสร้างฯ ในจังหวัดภูเก็ตเช่นกัน ได้แก่ กฎกระทรวงฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2529) ซึ่งครอบคลุมชายฝั่งทะเลหาดป่าตอง และ กฎกระทรวงฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2532) ซึ่งครอบคลุมชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต นอกเหนือจากหาดป่าตอง ซึ่งจะต้องถูกนำมาพิจารณาร่วมกับประกาศกระทรวงตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ด้วย
 
 
Facebook
Twitter
LinkedIn