โยธานำร่องผังเมืองแก้น้ำท่วม 3 จว. “โคราช-ลพบุรี-หาดใหญ่” คุมเข้มก่อสร้างพื้นที่รับน้ำ

โยธานำร่องผังเมืองแก้น้ำท่วม 3 จว. “โคราช-ลพบุรี-หาดใหญ่” คุมเข้มก่อสร้างพื้นที่รับน้ำ

นายเชตวัน อนันตสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า กรมกำลังจัดทำรายละเอียดแผนงานการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาว ด้วยการนำมาตรการด้านผังเมืองมาใช้ในการแก้ไขปัญหา โดยจะนำร่อง 3 จังหวัด เพื่อเป็นโมเดลให้จังหวัดอื่นๆ นำไปใช้ คือผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา ผังเมืองรวมจังหวัดลพบุรี และผังเมืองรวมอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ถูกน้ำท่วมหนักที่สุดในปี 2553 ที่ผ่านมา โดยจะแล้วเสร็จในอีก 3เดือนข้างหน้า จากนั้นจะให้ทั้ง 3 จังหวัดนำไปดำเนินการตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวม และขอจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณต่อไป
สำหรับรายละเอียดที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวม นอกจากเป็นกรอบและทิศทางในการพัฒนาเมืองแล้ว ยังมีมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ กรมกำลังจะขอจัดสรรงบประมาณปี 2555 จากกระทรวงมหาดไทย จำนวน5,000 ล้านบาท มาดำเนินการ คาดใช้เวลา 6 ปีจะสามารถจัดทำผังเมืองรวมได้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป เงินงบประมาณดำเนินการเฉลี่ย 800 ล้านบาท/ปี

“ในรายละเอียดจะเป็นการวางนโยบายลงลึกในระดับอำเภอทั้ง 600 อำเภอ จากเดิมผังเมืองรวมจะมีแค่การวางกรอบระดับจังหวัด เพื่อให้ท้องถิ่นวางผังเมืองของตัวเองได้ โดยกรมจะวางกรอบให้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง”
สำหรับประเด็นหลัก ๆ ที่จะกำหนดไว้ในผังเมืองรวม ประกอบด้วย
1. การกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมของอำเภอให้ชัดเจนว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง
2. พื้นที่ใดควรกำหนดให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย พื้นที่รับน้ำ จะได้ไม่มีอาคารและสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำเหมือนที่ผ่านมา
3. กำหนดพื้นที่ทิ้งขยะ โรงงานกำจัดขยะ
4. พื้นที่แก้มลิง จะกำหนดชัดเจนควรอยู่ในจุดใด โดยจะผนวกกับข้อมูลของกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการหาพื้นที่สาธารณะ หรือขอความร่วมมือจากเจ้าของที่ดินจัดทำพื้นที่แก้มลิงด้วย และหากพื้นที่ใดถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ แก้มลิง จะไม่ให้อยู่อาศัยหรือก่อสร้างอาคาร ยกเว้นทำเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
5. ระบบโครงข่ายคมนาคมระหว่างท้องถิ่น กรมจะวางระบบให้ว่าจะอยู่บริเวณใด เช่น ถนน ทางรถไฟ เป็นต้น จะได้ไม่มีการก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ
6. การก่อสร้างคลองส่งน้ำ จะกำหนดรูปแบบให้ชัดเจนว่าเป็นแบบใด

“ต่อไปกรมจะวางกรอบการพัฒนาให้เข้มงวดและชัดเจนขึ้นในแต่ละพื้นที่ และจะให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเริ่มนับหนึ่ง การวางผังเมืองรวมใหม่จะดูทั้งสภาพพื้นดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน การกำหนดบริเวณเป็นโซนที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ พื้นที่แก้มลิง พื้นที่รับน้ำ การคมนาคมและขนส่ง”
การใช้มาตรการด้านผังเมืองรวมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมี 2 วิธี คือ
1. การป้องกันโดยใช้มาตรการทางผังเมือง คือกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของแต่ละพื้นที่ เช่น โซนไหนอยู่อาศัยได้ ไม่ได้
2. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น เกิดน้ำท่วมในอำเภอหาดใหญ่ สาเหตุมาจากพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ จะให้ย้ายเมืองไปที่อื่นคงไม่สามารถทำได้ วิธีป้องกันคือขุดคลองผันน้ำเพิ่มเติม หากมีไม่พอ เป็นต้น

 

คัดจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Facebook
Twitter
LinkedIn