กรณีไฟไหม้อาคารฟิโก้ เพลส และโรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว

กรณีไฟไหม้อาคารฟิโก้ เพลส และโรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว

คัดจาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 12-14 มีนาคม 2555

————————————————-
กทม.ฟ้องแกรนด์ ปาร์คฯต่อเติมอาคาร
จาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 มีนาคม 2555
————————————————-
กทม.พบ รร.แกรนด์ ปาร์ค อเวนิว ต่อเติมอาคารเตรียมฟ้องแพ่ง-อาญา สั่งระงับใช้รอประเมินผลซ่อมแซ่ม

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานเขตคลองเตยแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของโรงแรมแกรนด์ ปราร์ค อเวนิว ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 หลังจากสำนักการโยธาตรวจสอบพบว่ามีการดัดแปลงลานจอดรถเป็นห้องจัดเลี้ยงโดยไม่ได้รับอนุญาต จนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า กทม.จะขอความร่วมมือเจ้าของอาคารสูงที่สร้างก่อนปี 2535 ให้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยด้วยการติดระบบสปริงเกอร์ โดย กทม.จะประสานกับสมาคมประกันภัยในการให้สินเชื่อแก่เจ้าของอาคารเพื่อนำไปปรับปรุงระบบความปลอดภัย

ทั้งนี้สำนักการโยธาได้กำหนดมาตรการป้องกันรับมืออัคคีภัย โดยแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบอาคาร 9 ประเภทที่มีความเสี่ยงทั้ง 50 เขต เริ่ม 15 มี.ค.นี้ และให้เขตรายงานผู้บริหาร กทม.ทุก 7 วัน ตั้งเป้าตรวจสอบแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือน เม.ย.

จากนี้ให้ตรวจสอบเอกสารการขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่ยื่นไว้แล้วว่าถูกต้องหรือไม่ ส่วนอาคารที่ยังไม่ได้ยื่นตรวจสอบความปลอดภัยตามกฎกระทรวง ขอให้เจ้าของอาคารจัดหาผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมืองกว่า 2,700 ราย หรือตรวจสอบรายชื่อในเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง

“หากเจ้าของอาคารไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ให้สำนักงานเขตแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของอาคารที่ไม่ยื่นรายงานการตรวจสอบอาคารต่อไป” ผู้ว่าฯกทม. กล่าว

ด้านนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เหตุเพลิงไหม้โรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว ไม่ได้เป็นความผิดของสำนักงานเขตที่ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ เพราะมีการดัดแปลงอาคารแต่ไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งเจ้าของอาคารต้องรับผิดชอบ

จากนี้ กทม.จะออกข้อบัญญัติในการกำหนดโทษเจ้าของอาคารที่ไม่ปรับปรุงแก้ไขตามระยะเวลาที่กำหนด และตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.เป็นต้นไป อาคารทุกประเภทจะต้องได้รับการตรวจสอบ มิเช่นนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร

ขณะที่ นายพินิจ เลิศอุดมธนา หัวหน้าฝ่ายโยธา กองควบคุมอาคาร กทม.เข้าตรวจสอบอาคารโรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว ซอยสุขุมวิท 22 หลังเกิดเหตุไฟไหม้เมื่อคืนวันที่ 8 มี.ค.2555 โดยเน้นไปที่ประเด็นการเปลี่ยนใช้พื้นที่จากอาคารจอดรถเป็นห้องจัดเลี้ยงต้นเพลิง ซึ่งถือเป็นความผิดในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และจะมีการแจ้งให้สำนักงานเขตคลองเตยดำเนินคดีตามกฏหมายทั้งทางแพ่ง และอาญาต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการตรวจสอบการใช้งานพื้นที่อื่นๆ ในทุกส่วนของอาคารด้วยว่าเป็นการใช้งานตามคำขออนุญาตหรือไม่ ขณะนี้สั่งระงับใช้อาคารเพื่อรอตรวจสอบ หากต้องซ่อมแซม โรงแรมต้องหาสถาบันที่เชื่อถือได้มากำหนดประสิทธิภาพ ประเมินวิธีการซ่อม เมื่อทดสอบแล้ว จึงแจ้งกลับให้สำนักงานการโยธา เข้าตรวจเพื่อพิจารณาอนุญาตใช้อาคารได้อีกครั้ง

ตร.เตรียมเรียกสอบเจ้าของ รร.ต่อเติมอาคาร ภายใน 7 วัน

พ.ต.อ.รัฐศักดิ์ รักสลาม ผู้กำกับ สน.ทองหล่อ เปิดเผยว่า ตำรวจจะเรียกตัวเจ้าของโรงแรม แกรนด์ ปาร์ค อเวนิว มาให้ปากคำภายใน 7 วัน หากยังไม่มาจะออกหมายเรียกอีกฉบับ หลักจากนั้นจะออกหมายจับทันที หลังจากที่ตัวแทนผู้อำนวยการเขตคลองเตยเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ น.ส.อัมฤทธิ์กอร์ นารูลา และนายพรพรหม พรหมวาณิช ในฐานะกรรมการผู้จัดการโรงแรม แกรนด์ ปาร์ค อเวนิว ข้อหาดัดแปลงแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้

————————————————-
กทม.เล็งรีดภาษีตึดเสี่ยงไฟไหม้เพิ่ม
จาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 13 มีนาคม 2555
————————————————-
กทม.เล็งรีดภาษีโรงเรือนตึกเสี่ยงไฟไหม้เพิ่มมากขึ้น พร้อมสั่งรื้อคดีเก่าเชือดข้าราชการละเลยหน้าที่

นายกิตพล เชิดชูกิจกุล สก.เขตประเวศ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษา ติดตาม ตรวจสอบมาตรการควบคุมความปลอดภัยในอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน และโรงมหรสพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องและเพิ่มบทลงโทษต่างๆ โดยเฉพาะอาคารที่สร้างก่อน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 และไม่ได้ติดตั้งระบบป้องกันความปลอดภัยนั้น จะใช้มาตรการจัดเก็บภาษีโรงเรือนเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำเงินมาจัดตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือเหตุการณ์เพลิงไหม้

นายกิตพล กล่าวว่า นอกจากนี้จะออกมาตรการควบคุมการก่อสร้าง การขออนุญาต และการเปิดใช้อาคาร เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดอายุการใช้งาน โดยหลังจากนี้จะต้องมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น เช่น ตรวจสอบอาคารทุก 6 เดือน หรือออกใบอนุญาตทุก 2 ปี

อย่างไรก็ตาม นายกิตพล กล่าวว่า คณะกรรมการวิสามัญฯ จะเปิดรับฟังความเห็นจากเจ้าของอาคารเพิ่มเติมว่า ต้องการให้หน่วยงานรัฐดำเนินการอย่างไรนอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมาย

ด้านนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภา กทม. กล่าวว่า คณะกรรมการวิสามัญฯ มีมติให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีการร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่เขตและฝ่ายที่เกี่ยวข้องปล่อยปละละเลยการตรวจสอบอาคารและการออกใบอนุญาตก่อสร้างต่อเติมอาคาร

“หากตรวจพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดจริง จะมีการติดตามตัวมาดำเนินคดีเพิ่มเติม ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157” นายสุทธิชัย กล่าว

ด้าน พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รอง ผบช.น. กล่าวว่า กทม.ควรบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัดและจริงจัง หากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จะต้องดำเนินคดีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าของอาคารด้วย

————————————————-
ผลตรวจแกรนด์ปาร์คฯพบส่อลอบต่อเติมอื้อ
จาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 มีนาคม 2555
————————————————-

กรรมการสอบเพลิงไหม้แกรนด์ปาร์คฯพบพิรุธน่าสงสัยหลายจุดในที่เกิดเหตุหน้าต่างห้องพักด้านหลังเปิดไม่ได้

นายกิตพล เชิดชูกิจกุล ประธานคณะกรรมการวิสามัญติดตามตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยอาคารสูงใน กทม.และคณะ เข้าตรวจสอบโครงสร้างโรงแรมแกรนด์ปาร์ค อเวนิว ซอยสุขุมวิท 22 โดยภายหลังการตรวจสอบ นายกิตพล ระบุว่า โรงแรมดังกล่าวมีการตรวจพบข้อสงสัยหลายจุดที่คาดว่า จะมีการดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต อาทิ ลิฟต์ ช่องทางหนีไฟ และตัวอาคารในบางจุด จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาในท้องที่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบ อีกทั้งอาคารดังกล่าวไม่มีระบบการปิดกั้นควันไฟ เห็นได้จากบางปล่องมีความพยายามที่จะนำผ้าขนหนูไปยัดไว้

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบห้องพักของผู้เข้าพัก พบว่าหน้าต่างทางด้านหลังของห้องพักไม่สามารถเปิดได้ จึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการสำลักควันไฟและมีผู้เสียชีวิต ซึ่งสภากรุงเทพมหานครเห็นว่าควรมีมาตรการเสริมนอกเหนือจากเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร คือควรมีข้อบัญญัติในเรื่องความปลอดภัยสำหรับผู้เข้าพักในโรงแรม ซึ่งจะทำให้ตัวผู้ใช้ทราบว่าแต่ละอาคารมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด โดยขณะนี้กรรมการกำลังเร่งติดตามแก้ไขข้อบัญญัติเพิ่มเติม โดยมีการยกข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยเข้ามาประกอบด้วย และจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 2 ชุด เพื่อศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมายและเรื่องความปลอดภัย

ผลตรวจแกรนด์ปาร์คฯพบส่อลอบต่อเติมอื้อ

สภา กทม. เผยผลตรวจ รร.แกรนด์ ปาร์คฯ ส่อมั่วต่อเติมอีกหลายจุด สั่งตึกฟิโกรื้อกระจกชำรุด-ปิดผ้าคลุมตึกป้องกันวัสดุตกหล่น

นายกิตพล เชิดชูกิจกุล สก.เขตประเวศ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญติดตามตรวจสอบมาตรการควบคุมความปลอดภัยในอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน และโรงมหรสพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบโรงแรมแกรนด์ ปาร์ค  อเวนิว ซอยสุขุมวิท 22 ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ คาดว่าอาจมีการดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกหลายจุด เช่น ลิฟต์ ทางหนีไฟ

จากการตรวจสอบระบบการระบายควันของอาคารยังพบว่า ไม่มีระบบปิดกั้นควันไฟ ทำให้ควันลอยขึ้นสู่ชั้นบน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพราะสำลักควันและขาดอากาศหายใจ ขณะเดียวกันหน้าต่างในห้องพักก็ไม่สามารถเปิดเพื่อระบายควันออกได้

นายกิตพล กล่าวว่า นอกจากนี้ กทม.ได้ตรวจสอบอาคารฟิโก เพลส ย่านอโศก พบว่า ทางหนีไฟถูกปิดและรอบตัวอาคารยังไม่มีจุดจอดรถดับเพลิง ทั้งนี้ ได้สั่งให้เจ้าของอาคารรื้อเศษกระจกที่ชำรุดเสียหายออกทันที และให้นำผ้าคลุมตึกไว้เพื่อป้องกันวัสดุตกหล่น

ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ จะพิจารณากำหนดมาตรการเพิ่มเติม เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมกับเจ้าของอาคารที่ยังไม่ได้ปรับปรุง การติดป้ายรับรองอาคารที่ปลอดภัยและป้านเตือนอาคารไม่ปลอดภัย เป็นต้น

————————————————-
ค้านกทม.บีบเอกชนติดสปริงเกอร์ดับไฟ
คัดจาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 14 มีนาคม 2555
————————————————-

สมาคมสถาปนิกสยามฯ ฮึ่ม ค้าน กทม.บีบเอกชนติดสปริงเกอร์ เหตุต้นทุนสูง แนะปรับปรุงบันไดหนีไฟ จวกเจ้าหน้าที่รัฐละเลยไม่บังคับใช้กฎหมาย

นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนดให้ภาคเอกชนเจ้าของอาคารสูงที่สร้างก่อน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 ให้ติดตั้งระบบสปริงเกอร์รับมือเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงและใช้เวลานานในการดำเนินการ

นายทวีจิตร กล่าวว่า สมาคมสถาปนิกสยามฯ มีข้อเสนอว่า เบื้องต้นควรให้เจ้าของอาคารปรับปรุงระบบบันไดหนีไฟภายในอาคารอย่างน้อย 2 แห่ง ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถทำได้ทันที ใช้งบประมาณไม่มาก และง่ายกว่าการติดตั้งสปริงเกอร์

“บันไดหนีไฟที่มีประสิทธิภาพจะต้องเป็นระบบปิดล้อม ป้องกันไม่ให้ควันไฟเข้าถึงได้ ส่วนประตูหนีไฟต้องทำด้วยวัสดุทนความร้อน รวมถึงปรับปรุงทางเดินหนีไฟไม่ให้มีปลายตัน และต้องมีระยะทางไม่ไกลเกินกว่า 10 เมตร ซึ่งจะสามารถหน่วงสถานการณ์ได้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง” นายทวีจิตร กล่าว

นายทวีจิตร กล่าวว่า นอกจากนี้ตัวอาคารควรออกแบบให้มีพื้นที่ป้องกันไฟ โดยจำกัดพื้นที่เพลิงไหม้และควันไฟไม่ให้ลุกลามไปสู่พื้นที่ส่วนอื่นๆ รวมทั้งกำหนดให้ใช้วัสดุทนไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามได้ง่าย

ทั้งนี้ องค์กรปกครองท้องถิ่นควรมีมาตรการส่งเสริมภาคเอกชนให้ปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยด้วยการจัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือใช้มาตรการจูงใจด้านภาษีและการประกันภัยด้วย

Facebook
Twitter
LinkedIn