แก้ไขหลักเกณฑ์แต่งตั้งคชก.ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

แก้ไขหลักเกณฑ์แต่งตั้งคชก.ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

26 เม.ย. 2555

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ออก ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 1 มีนาคม 2555 เพื่อใช้แทนประกาศฯฉบับเดิม คือ ฉบับที่ 41 (พ.ศ. 2554) ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

คณะผู้ชำนาญการฯตามประกาศฉบับนี้ จะมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณา IEE และ EIA เฉพาะในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมซึ่งในปัจจุบันได้กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 7 ฉบับ บนพื้นที่ชายฝั่งทะเล 6 จังหวัด ได้แก่จังหวัดกระบี่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งข้อกำหนดที่เป็นมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมรวมถึงการให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)สำหรับอาคารบางประเภทและขนาดด้วย

ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดที่มีการประกาศกำหนดพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จากเดิมในประกาศฯ ฉบับที่ 41 (พ.ศ. 2554) พอสรุปความแตกต่างได้ดังนี้

1. ในประกาศฯฉบับที่ 41 มีการปรับปรุงให้แต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ 2 ประเภท คือ คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯสำหรับโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มีผู้ว่าราชการจังหวัดของจังหวัดนั้นๆ เป็นประธานกรรมการ และ คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ สำหรับโครงการหรือกิจการของเอกชน ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการตามกฎหมายก่อนเริ่มการก่อสร้างหรือดำเนินการ ชุดนี้จะมีผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคของจังหวัดนั้นๆ เป็นประธานกรรมการ ในประกาศฯฉบับใหม่ แก้ไขกลับไปให้มีเพียงคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯชุดเดียวในแต่ละจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ก็ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดท่านเดียว

2. ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค อาจส่งผู้แทนเข้าเป็นกรรมการได้

3. การได้มาซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิในส่วนของรายชื่อจากผู้ว่าราชการจังหวัด มีการระบุรายละเอียดมากขึ้นและชัดเจนขึ้นคือ จะมีการเสนอชื่อจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรเอกชน และสถาบันการศึกษาในจังหวัดนั้นๆ มาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทำรายชื่อเสนอแนะไปให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบ

4. เพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิ จะต้องมีผลงานและประสบการณ์ ตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป

5. เพิ่มคณะกรรมการขึ้นสองคน คือ เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด

มีข้อสังเกตสำหรับประกาศฯฉบับนี้คือ
(1) เป็นเรื่องแปลกที่เพิ่มเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงฯ จำนวน 2 คน เข้ามาเป็นกรรมการด้วย โดยระบุว่าให้เป็นผู้ช่วยฝ่ายเลขานุการ

(2) ในข้อสุดท้ายของประกาศฯที่มีลักษณะเป็นบทเฉพาะกาล กำหนดให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ที่แต่งตั้งขึ้นตามประกาศฯ เรื่องเดียวกัน ฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ได้แก่ ฉบับที่ 24 (พ.ศง 2548) และ ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2553) ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งตามประกาศฯฉบับใหม่นี้ แต่ไม่มี ฉบับที่ 41 (พ.ศ. 2554) ที่เพิ่งถูกยกเลิกโดยประกาศฯฉบับนี้ด้วย ซึ่งอาจเป็นไปได้สองทางคือ ในช่วงประมาณ 9 เดือนก่อนหน้าไม่มีการแต่งตั้งใหม่เลย หรือ มีการแต่งตั้งแต่เขียนตกไป ซึ่งหากเป็นกรณีหลังจะมีปัญหาสำหรับผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศฯ ฉบับที่ 41 (พ.ศ. 2554) ได้

(3) ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯของจังหวัดที่มีพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมนี้ จะมีวาระที่แตกต่างจากผู้ทรงคุณวุฒิในคณะผู้ชำนาญการฯชุดปกติที่ประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้ง คืออยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี (ชุดปกติ 3 ปี) ต่อได้อีก 1 วาระ(เหมือนกัน) แต่มีข้อยกเว้นหากเห็นว่ายังมีความเหมาะสม ก็อาจอยู่ในตำแหน่งได้อีกไม่เกิน 1 วาระ (ชุดปกติไม่ระบุ จึงอาจอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ)

Facebook
Twitter
LinkedIn