ศาลปกครองสั่งรื้อ 5 ตลาดในหมู่บ้านเสรีวิลล่า

ศาลปกครองสั่งรื้อ 5 ตลาดในหมู่บ้านเสรีวิลล่า
คัดจาก น.ส.พ. ไทยรัฐ 17 พ.ค. 2561

ศาลปกครองกลางพิพากษาคดีครอบครัวแสงหยกตระการฟ้องผู้ว่าฯและ กทม. แล้ว ระบุชัด กทม. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้สร้างตลาดในพื้นที่พักอาศัย สั่งเฉียบขาดให้รื้อถอนตลาดทั้ง 5 แห่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับครอบครัว “แสงหยกตระการ” มากว่า 7 ปี ภายใน 60 วัน และให้ดูแลไม่ให้มีแผงลอยมาขายบริเวณดังกล่าวด้วย แถมให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ผู้ร้องทั้ง 4 คน รายละ 368,400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,473,600 บาท

กรณี น.ส.รัตนฉัตร แสงหยกตระการ อายุ 61 ปี และ น.ส.ราณี แสงหยกตระการ อายุ 57 ปี 2 พี่น้องก่อเหตุทุบรถกระบะนิสสัน นาวารา ของ น.ส.รชนิกร เลิศวาสนา อายุ 37 ปี ที่เอามาจอดขึ้นเบรกมือขวางทางเข้าออกบ้านพักในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ซอยศรีนครินทร์ 55 แยก 2 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม. จนเรื่องดังกล่าวกลายเป็นกระแสสังคม เบื้องหลังถูกตีแผ่ว่า สาเหตุมาจากการสร้างตลาดติดกับบ้านของตระกูล “แสงหยกตระการ” สร้างความเดือดร้อนมานานนับ 10 ปี ถึงขนาดฟ้องศาลปกครอง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 พ.ค. 2561 องค์คณะแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษากรณี น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ และสมาชิกครอบครัวแสงหยกตระการ รวม 4 คน ผู้ที่พักอาศัยในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ย่านสวนหลวง ร.9 ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ผอ.เขตประเวศ สำนักงานเขตและ กทม. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 กรณีปล่อยให้เกิดการสร้างตลาด 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดสวนหลวง ตลาดรุ่งวานิชย์ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดยิ่งนรา และตลาดร่มเหลือง รอบบ้านพัก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีครอบครัว “แสงหยกตระการ” เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมหน้า

องค์คณะตุลาการอ่านคำพิพากษาว่า การยื่นขอก่อสร้างอาคารและตลาด 5 แห่งบริเวณข้างบ้านผู้ฟ้องทั้ง 4 ในหมู่บ้านเสรีวิลล่า และการอนุญาตให้สร้างผิดวัตถุประสงค์การจัดสรรที่ดินในโครงการที่ให้ก่อสร้างเพื่อที่พักอาศัยเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์ และผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนออกไป จึงถือว่าละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ประกอบกับ ผอ.เขตประเวศ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มิได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องกับตลาดพิพาททั้ง 5 แห่ง ปล่อยปละละเลยให้มีผู้จำหน่ายสินค้าบริเวณหน้าบ้าน น.ส.บุญศรีกับพวก

เมื่อนับเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ที่มีการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดแห่งแรกในคดีนี้ จนถึงปี พ.ศ.2561 ที่เกิดเหตุการณ์ทุบรถที่จอดกีดขวางหน้าบ้าน น.ส.บุญศรีกับพวก นับเป็นระยะเวลาประมาณ 7 ปีเศษ ไม่เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อีกทั้งยังเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้ น.ส.บุญศรีกับพวกทั้ง 4 ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย และต้องตกอยู่ในภาวะทนทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจมาเป็นระยะเวลานาน ศาลจึงมีคำพิพากษาดังนี้

1. เพิกถอนหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารตลาด ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกให้ผู้ประกอบการตลาดสวนหลวง ตลาดรุ่งวานิชย์ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดยิ่งนรา โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารแต่ละฉบับดังกล่าว
2. ให้ผู้ว่าฯกทม.และ ผอ.เขตประเวศ ดำเนินการให้ผู้ประกอบการรื้ออาคารตลาดรอบบ้าน น.ส.บุญศรี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
3. ให้ผู้ว่าฯ กทม. ผอ.เขตประเวศ และสำนักงานเขตประเวศ ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดก่อเหตุรำคาญ และควบคุมดูแลมิให้มีผู้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะบริเวณหน้าบ้าน น.ส.บุญศรี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
4. ให้ผู้ว่าฯ กทม. ผอ.เขตประเวศ และสำนักงานเขตประเวศ สอดส่องกวดขันมิให้ผู้ใดจำหน่ายสินค้าบนถนนและทางเท้าบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
5. กทม.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ น.ส.บุญศรี กับพวก เป็นเงินรายละ 368,400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,473,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2556 ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด และ 6.ให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมีผลบังคับอยู่ต่อไปจนกว่าคดีจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ส่วนความคืบหน้าการสอบสวนการกระทำความผิดทางวินัยกับข้าราชการที่ปล่อยให้จัดตั้งตลาด ปลัด กทม. รายงานเบื้องต้นว่า พิจารณาความผิดทางวินัยเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องประมาณ 7 ราย เช่น อดีต ผอ.เขตประเวศและคนปัจจุบัน หัวหน้าฝ่ายโยธาเขต หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ความผิดที่พบเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรงมีบทลงโทษ อาทิ การตัดเงินเดือน ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องระบุไว้ว่า การเอาผิดวินัยผู้อำนวยการเขตที่พ้นราชการไปเกิน 1 ปี ไม่สามารถเอาผิดได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/1283737

Facebook
Twitter
LinkedIn