มาตรฐานระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลในอาคาร

มาตรฐานระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลในอาคาร
4 ม.ค. 2562

ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออก กฎกระทรวงสุขลักษณะการจัดการสิ่งปฏิกูล พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 22 มิถุนายน 2561 และเริ่มใช้บังคับเมื่อ 22 สิงหาคม 2561 เป็นต้นมา มีข้อกำหนดให้ระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลแบ่งเป็นสองระบบ ได้แก่ ระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลแบบติดกับที่ และระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลรวม ซึ่งจะต้องมีประเภท ขนาด ระยะเวลาในการสูบกากตะกอน และวิธีการระบายน้ำทิ้งที่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุขประกาศกำหนด บัดนี้มี “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดประเภท ขนาด ระยะเวลาในการสูบกากตะกอน และวิธีการระบายน้ำทิ้งที่ได้มาตรฐานของระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล พ.ศ. 2561” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 และให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในท้องที่กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนครและเทศบาลเมืองเฉพาะใน 34 จังหวัดตามบัญชีแนบท้ายประกาศ

ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร บ้านพักอาศัย ห้องแถวหรือตึกแถวไม่ว่าจะใช้เพื่อการพาณิชย์หรือพักอาศัย ต้องจัดให้มีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลแบบติดกับที่ที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ลิตร และต้องมีระยะเวลาสูบตะกอนไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งต่อสี่ปี เพื่อนำไปบำบัดในระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลรวม

สำหรับส้วมสาธารณะและอาคารอื่น เช่น อาคารชุด โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรมหรือกลุ่มอาคาร และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ต้องจัดให้มีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลแบบติดกับที่ที่มีขนาดเพียงพอกับปริมาณสิ่งปฏิกูลที่อาจเกิดขึ้นในอาคารประเภทนั้นๆ และต้องมีระยะเวลาสูบตะกอนหนึ่งครั้งต่อปี เพื่อนำไปกำจัดในระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลรวม

ในส่วนของวิธีการระบายน้ำทิ้งจากระบบกำจัดปฏิกูลแบบติดกับที่ อาจนำไปบำบัดในระบบบำบัดน้ำเสียรวม ในกรณีปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือสิ่งแวดล้อมโดยตรง จะต้องได้มาตรฐานไข่หนอนพยาธิและแบคทีเรียอีโคไลตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข หรือหากจะใช้วิธีการซึมสู่ดินในพื้นที่ซึ่งพื้นดินซึมน้ำได้ดีโดยมีระบบบ่อซึม หรือร่องซึมต้องอยู่เหนือระดับน้ำใต้ดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร โดยระดับการระบายน้ำต้องอยู่ใต้ผิวดินไม่น้อยกว่า 50 ซม. และอยู่ห่างจากแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค ไม่น้อยกว่า 30 เมตร

ดาวน์โหลด: pha\ma61.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn