งานสถาปนิก’66
หลังจากที่ประเทศไทยประกาศการผ่านพ้นโควิดอย่างเป็นทางการ ระยะห่างที่ทำให้ทุกคนในวงการออกแบบไม่ได้พบปะกันหลายปี ทางสมาคมฯจึงเกิดความคิดที่จะเชิญผู้คนจากทุกสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรม เข้ามาร่วมจัดงานอย่างยิ่งใหญ่และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาอยู่ด้วยกัน (Time of Togetherness) ความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญ ที่แสดงให้ผู้คนได้เข้าใจการทำงานออกแบบครบกระบวนการ พลังของวิชาชีพ และ ความสนุกสนานไมตรีในฐานะของเพื่อนพ้องแวดวงออกแบบ
จึงเป็นที่มาของธีมงานในปีนี้ คือ “ตำถาด : Time of Togetherness” เพื่อฉลองการรวมตัวกันครั้งแรกขององค์กรวิชาชีพทั้ง 5 ประกอบด้วย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA) สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย(TALA) สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) และสภาสถาปนิก (ACT) หัวข้อ ตำถาด หากแปลความหมาย คือการเปรียบอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอาหารของไทย ที่รวมเอาวัตถุดิบชั้นดีที่คัดสรรค์แล้วมารวมกัน ให้เห็นภาพว่าการรวมตัวกันของทุกวิชาชีพในงานนี้ คือวัตถุดิบทางความคิดชั้นยอดเป็นพื้นที่รวมความรู้รอบด้านจากทุกสมาคมวิชาชีพ
กิจกรรมหลากหลายในงาน งานสถาปนิก’66 ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม เช่น Human Library เป็นกิจกรรมที่ทำให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ว่า สถาปนิกนั้นได้มีหลากหลายด้านที่เป็นมากกว่าอาชีพนักออกแบบ จึงได้เชิญบุคคลในหลากหลายอาชีพในด้านต่างๆเข้ามาพูดคุย ให้ความรู้ ให้คำแนะนำหรือแชร์ประสบการณ์ในทุกๆเรื่องที่ผู้ฟังอยากรู้ เสมือนเป็นการเปิดหนังสืออ่านในห้องสมุด แต่เป็นห้องสมุดมนุษย์ที่มีชีวิต เกิดการสร้างบรรายกาศบริเวณเวทีกลางให้คึกคักและหนาแน่นไปด้วยผู้ฟังที่สนใจเป็นจำนวนมาก นับเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับสายวิชาชีพออกแบบได้อย่างมากมาย การรวมตัว ตั้งคำถาม เรียนรู้และต่อยอดพัฒนา ได้อธิบายหัวใจของธีมกับคำว่า “Time of Togetherness” ได้ดีที่สุด
กิจกรรมสัมมนาวิชาการที่ตรงกับความอยากรู้ของผู้คนในวงวิชาชีพ เรื่องยากๆที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตและการประกอบวิชาชีพ ที่ต้องรอคำอธิบายจากปากผู้รู้ ก็มีคนเข้าฟังอย่างหนาแน่น กิจกรรมสถาปนิกอาษาโดยสถาปนิกและวิศวกรก็ให้ประโยชน์ต่อคนทั่วไปที่มีปัญหาเรื่องบ้าน กิจกรรมด้านวิชาการที่ได้รับความร่วมมือจาก CDAST เช่น การประกวดวิทยานิพนธ์ดีเด่น และ กิจกรรม Workshop การวาดภาพสีน้ำ นิทรรศการรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ที่รวมอาคารที่เป็นมรดกสถาปัตยกรรมจากทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 11 อาคาร ทำให้ประชาชนได้เข้าใจถึงคุณค่ามรดกและวัฒนธรรมสถาปัตยกรรม ที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์และศึกษาต่อไปในอนาคต และที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดคือกิจกรรมด้านวิชาชีพ นิทรรศการ All Member ที่รวบรวมผลงานของสมาชิกทุกสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมอย่างยิ่งใหญ่และมีมากถึง 240 Unit รวม 155 บริษัท นิทรรศการของ 3 สมาคมวิชาชีพ TIDA TALA TUDA นับเป็นครั้งแรกที่มีผู้คนสนใจเข้าร่วมแสดงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ข้อคิดและความเห็นที่ทางสมาคมต้องนำไปพัฒนาต่อก็มีอยู่หลายส่วน เช่น เรื่องของภาพลักษณ์ของงาน ความเป็นสถาปนิกไทยที่จะต้องก้าวไปในเวทีโลก (Branding) การจัดสัมมนาต่างประเทศ ACT FORUM ซึ่งปีนี้สมาคมร่วมมือกับสภาสถาปนิกเป็นครั้งแรก ความฝันของเราที่จะเห็นการบรรยายระดับนานาชาติจากทุกวงวิชาชีพคือจุดเริ่มต้น แต่อาจจะลืมว่าสิ่งนั้นคือ “ท่ายาก” งานประชาสัมพันธ์เหลือเวลาสั้นไป และยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่ควรฟังในแต่ละช่วง การสร้างความสนใจให้คนในวิชาชีพอื่นๆมางานอาษาดูจะเป็นเพียงเริ่มต้น ปีแรกจึงติดขัดพอสมควร หรือช่วงเวลาเช้าที่เป็นอุปสรรคของคนฟังตลอดมา รวมไปถึงวิธีการจัดผังพื้นที่ห้องสมนา ที่ไม่สามารถปรับขนาดได้ ให้ยืดหยุ่นต่อจำนวนคนในแต่ล่ะรอบ แต่ทีมงานก็คงไม่ท้อ และจะพัฒนาต่อให้การสัมมนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของผู้จัดงานหลัก TTF คงต้องแสดงความยินดีที่การแสดงงานที่มีผู้สนใจเข้าร่วมปีนี้มีจำนวนมาก พื้นที่ถูกจับจองเกือบ 95% ของพื้นที่แสดงงาน 60,000 ตารางเมตร และมาจากหลายประเทศ การพัฒนาพื้นที่ของงานแสดงสินค้าหลังงานจบลง ทางสมาคมก็ได้มีการประชุมสรุปเพื่อการพัฒนา ทางสมาคมได้ชี้ให้เห็นข้อดีมากๆ ข้อที่ต้องนำไปพัฒนา และข้อที่ติติงจากสมาชิก และอยากให้ทางผู้จัดนำความเห็นต่างๆไปปฏิบัติให้กิดเป็นรูปธรรม เช่น เมื่อเราทราบว่าด้วยศักยภาพของงานอาษา งานของเราจะเป็นงานที่ International มากขึ้นเรื่อยๆ การรับมือและคัดสรร (Selected Materials) จากประเทศต่างๆที่เข้าร่วม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าที่มาจากมิตรประเทศเหล่านั้น คือสิ่งสำคัญ การออกแบบ Thematic Pavilion เป็นแลนด์มาร์คที่น่าสนใจที่สามรถนำไปขยายผลให้เกิดคามสำเร็จได้ในหลายพื้นที่ ถึงวันที่งานอาษาจะต้องขยับตัวจากเดิม ให้กลายเป็นศูนย์กลางของการแสดงนวัตกรรมการออกแบบที่ใหญ่ที่สุด และน่าภาคภูมิใจที่สุดของเอเชีย
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณคณะกรรมการจัดงาน วิทยากรผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ นักออกแบบ Influencer ทั้งในสายวิชาขีพและด้านอื่นๆ ที่ร่วมกันให้ความรู้และเป็นผู้บรรยายทุกหัวข้อ คณะทำงานและสมาชิกทุกท่าน รวมถึงหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ร่วมเป็นพันธมิตรกิจกรรม และที่สำคัญ 4 สมาคมวิชาชีพที่ร่วมเป็นผู้จัดงานหลัก สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA) สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA) สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) และสภาสถาปนิก (ACT) ที่ทำให้เกิดงานอันยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จ ขอกล่าวคำว่าขอบคุณและซาบซึ้งอีกครั้ง
พบกันอีกครั้งในงานอาษา 2024
นายชนะ สัมพลัง
นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2565-2567