ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)
12 พ.ย. 2562

 

กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งได้มีการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 หลังจากการรับฟังข้อคิดเห็น ในขั้นตอนต่อๆไปจะเป็นการปรับปรุงร่างผังเมืองรวม จนเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผังเมืองแล้ว จะมีการปิดประกาศร่างผังเมืองรวมเป็นเวลา 90 วัน เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นหรือยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อกรุงเทพมหานครต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถออกใช้บังคับได้ในปี พ.ศ. 2563

ตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 นี้ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แตกต่างไปจากผังเมืองรวมฉบับปัจจุบันค่อนข้างมาก และพื้นที่ต่างๆ หลายพื้นที่ก็มีการปรับเปลี่ยนประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินไปจากเดิม นอกจากนั้น ในข้อกำหนดของร่างผังเมืองรวมยังบรรจุแนวความคิดใหม่ๆ ที่เพิ่งนำมาใช้ในร่างผังเมืองรวมฉบับนี้ด้วย อย่างเช่น เรื่อง การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (Planned Unit Development, PUD) การให้ Bonus F.A.R. เพิ่มขึ้นอีกหลายกรณี เช่น การจัดให้มีพื้นที่สำหรับการเปลี่ยนถ่ายการสัญจร (Transit Facilities) ภายในระยะ 200 เมตรโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การจัดให้มีพื้นที่ว่างเพื่อประโยชน์สาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา (River Front Open Space) และการจัดให้มีสถานที่ดูแลเด็กและผู้สูงอายุในเวลากลางวัน (Day Care) ในอาคารพาณิชย์ สำนักงาน หรือที่อยู่อาศัย นอกจากนั้น ยังมีมาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (Transfer of Development Right, TDR) ทั้งในกรณีภายในบริเวณการใช้ประโยชน์ที่ดินเดียวกัน และต่างบริเวณ ฯลฯ

ในส่วนของการแบ่งประเภทที่ดิน ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับนี้ ได้แบ่งประเภทที่ดินละเอียดขึ้นกว่าเดิมอย่างมากในประเภทที่อยู่อาศัย (ย.) และพาณิชยกรรม (พ.) ในขณะที่ประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.) ลดจำนวนประเภทลง และไม่มีประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (ศ.) อีกต่อไป

ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย ซึ่งเดิมแยกย่อยเป็น ย.1 ถึง ย.10 ในร่างฯฉบับนี้ได้แยกละเอียดขึ้นเป็น ย.1 ถึง ย.15 โดยยังคงมี 3 กลุ่มตามความหนาแน่นเช่นเดิมคือ สีเหลือง สีส้ม และสีน้ำตาล ส่วนที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (สีแดง) ที่เดิมแยกย่อยเป็น พ.1 ถึง พ.5 ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น พ.1 ถึง พ.8 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับผังเมืองรวมฉบับปัจจุบัน โดยพิจารณาตามข้อกำหนด F.A.R. พอสรุปถึงการเปลี่ยนแปลงในแต่ละสีได้พอสังเขปดังนี้

สีเหลือง (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) เดิมมี 4 ประเภท เพิ่มเป็น 5 ประเภท ประเภทที่เพิ่มขึ้นมาคือ ย.3 มี F.A.R. 2.0 ส่วน ย.3 เดิม เทียบโดย F.A.R. ได้กับ ย.4 และ ย.4 เดิม เทียบได้กับ ย.5

สีส้ม (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) เดิมมี 3 ประเภท เพิ่มเป็น 5 ประเภท ประเภทที่เพิ่มขึ้นมาคือ ย.6 มี F.A.R. 3.5 และ ย.10 มี F.A.R. 5.5 ส่วน ย.5 เดิม เทียบได้กับ ย.7, ย.6 เดิม เทียบได้กับ ย.8 และ ย.7 เดิม เทียบได้กับ ย.9

สีน้ำตาล (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) เดิมมี 3 ประเภท เพิ่มเป็น 5 ประเภท ประเภทที่เพิ่มขึ้นมาคือ ย.12 มี F.A.R. 6.5 และ ย.14 มี F.A.R. 7.5 ส่วน ย.8 เดิม เทียบได้กับ ย.11, ย.9 เดิม เทียบได้กับ ย.13 และ ย.10 เดิม เทียบได้กับ ย.15

สีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม) เดิมมี 5 ประเภท เพิ่มเป็น 8 ประเภท ประเภทที่เพิ่มขึ้นมาคือ พ.1 มี F.A.R. 3, พ.2 มี F.A.R. 4 และ พ.6 มี F.A.R. 7 ส่วน พ.1 เดิม เทียบได้กับ พ.3, พ.2 เดิม เทียบได้กับ พ.4, พ.3 เดิม เทียบได้กับ พ.5, พ.4 เดิม เทียบได้กับ พ.7 และ พ.5 เดิม เทียบได้กับ พ.8 ความเปลี่ยนแปลงของการแบ่งประเภทที่ดินประเภทพาณิชยกรรมนี้ ทำให้เดิมที่มี F.A.R. ต่ำสุด 5 ซึ่งเทียบเท่ากับ ย.7 สีส้ม กลายเป็นต่ำสุดเพียง 3 ซึ่งเท่ากับ ย.5 สีเหลือง

สำหรับการแบ่งประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดินก็มีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร เช่น โรงแรม เพิ่มโรงแรมไม่เกิน 20 ห้อง การใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับ น้ำมัน/ก๊าซปิโตรเลียมเหลว/ก๊าซธรรมชาติ มีการจัดแบ่งประเภทใหม่หมดเพื่อให้สอดคล้องกับประเภทตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้เพิ่มจากเดิม 5 ประเภท เป็น 15 ประเภท และการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภท สถานที่เก็บ/สถานีรับส่ง/กิจการรับส่งสินค้า ได้มีการแยกประเภทใหม่เป็น คลังเก็บสินค้า/คลังขนส่งสินค้า/สถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ/สถานที่บริการตู้สินค้า ซึ่งยังแยกย่อยตามขนาดพื้นที่อีก รวมเป็น 12 ประเภท

ส่วนพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่มีการเปลี่ยนแปลงประเภทที่ดินก็มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของเมืองได้เป็นอย่างดี ทั้งการเปลี่ยนแปลงเป็นประเภทที่ดินที่มีความหนาแน่นมากขึ้น การเปลี่ยนประเภทที่ดินจากชนบทและเกษตรกรรมเป็นที่อยู่อาศัยหรือพาณิชยกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมซึ่งลดลงกว่าเดิมมากทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เมื่อดูจากแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีพื้นที่ที่มองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงพอสังเขปดังต่อไปนี้

เปลี่ยนจาก สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงเขียว (อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) เป็น สีเขียว (ชนบทและเกษตรกรรม) เช่น
– สองฟากถนนพุทธมณฑลสาย 3
– พื้นที่สีขาวทแยงเขียวทางด้านเหนือของถนนประชาร่วมใจ คงเหลือเพียงแถบตรงกลางกว้างประมาณ 2 ก.ม. สองฟากของคลองแปดเรื่อยลงมาตามคลองลาดงูเห่า จนชนกับถนนประชาร่วมใจ
– พื้นที่สีขาวทแยงเขียวเดิมทางด้านใต้ของถนนประชาร่วมใจซีกตะวันออก ประมาณตั้งแต่เส้นขนานห่าง 500 เมตรทางตะวันออกของคลองสี่

เปลี่ยนจาก สีขาวทแยงเขียว เป็น สีเหลือง/สีส้ม/สีแดง เช่น
– สองฟากถนนพุทธมณฑลสาย 1 ถนนกาญจนาภิเษก และถนนพุทธมณฑลสาย 2 ในเขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ และเขตบางแค เปลี่ยนเป็นสีเหลือง
– สองฟากถนนราชพฤกษ์ ในเขตตลิ่งชัน เปลี่ยนเป็น สีส้ม/สีแดง

เปลี่ยนจาก สีเขียว เป็น สีเหลือง เช่น
– ริมถนนกาญจนาภิเษกด้านทิศใต้ ในเขตบางขุนเทียน

เปลี่ยนจาก สีเหลือง เป็น สีส้ม เช่น
– ริมถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งตะวันออก ระหว่างคลองบางเขนขึ้นไปถึงถนนแจ้งวัฒนะฝั่งใต้
– พื้นที่ผืนใหญ่มากซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเขตวังทองหลาง เขตลาดพร้าว เขตบางเขน เขตบึงกุ่ม ตั้งแต่เหนือถนนรามคำแหงและซอยวัดเทพลีลา ขึ้นไปทางเหนือจนถึงถนนรามอินทราฝั่งเหนือ
– สีเหลืองเดิมในเขตสวนหลวง ตั้งแต่ทางพิเศษฉลองรัชไปจนถึงฟากตะวันออกของถนนศรีนครินทร์

เปลี่ยนจาก สีส้ม เป็น สีน้ำตาล/สีแดง เช่น
– ริมถนนรัชดาภิเษก ในเขตจตุจักร
– ริมถนนแจ้งวัฒนะฝั่งเหนือ ในเขตบางเขน

เปลี่ยนจาก สีครีม (ศ.1, ศ.2) เป็น สีแดง/สีน้ำเงิน โดยพื้นที่ในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และพื้นที่ฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ ถูกจัดเป็นที่ดินประเภทสีแดง หรือสีน้ำเงิน (สถาบันราชการฯ) ตามสภาพความเป็นจริง

ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ฉบับปิดประกาศ 15 วัน ซึ่งได้มีการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 อาจยังสามารถดูหรือดาวน์โหลดได้จาก http://plan4bangkok.com/pr.html#downloadpdf

Facebook
Twitter
LinkedIn