สาระสำคัญ พรบ. การผังเมือง พ.ศ. 2562

สาระสำคัญ พรบ. การผังเมือง พ.ศ. 2562
17 ธ.ค. 2562

พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 กำหนดให้เริ่มใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 25 พ.ย. 2562 และเป็นการยกเลิก พระราชบัญญัติฉบับเดิม คือพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 และฉบับแก้ไข ที่ใช้บังคับมา 44 ปี พระราชบัญญัติการผังเมืองฉบับใหม่นี้มีสาระสำคัญ โดยเน้นในประเด็นที่น่าสนใจ และประเด็นที่มีความแตกต่างไปจากพระราชบัญญัติฉบับเดิม ดังนี้

บทนิยาม

ความหมายของ “การผังเมือง” มีความแตกต่างจากความหมายที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับเดิม คือ เป็นการกล่าวถึงผังเมืองในระดับต่างๆ ไม่เพียงเฉพาะผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ และมีการระบุวัตถุประสงค์ของการผังเมืองในด้านต่างๆ โดยเพิ่มวัตถุประสงค์เรื่อง การคมนาคมและการขนส่ง การป้องกันภัยพิบัติ และการป้องกันความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดิน

นอกจากนี้ มีบทนิยามที่เพิ่มขึ้น เช่น “การพัฒนาเมือง” “ผังน้ำ” เป็นต้น

บททั่วไป

พระราชบัญญัติฉบับใหม่มีการจัดแบ่งและการลำดับหมวดที่แตกต่างไปจากเดิม มีการเพิ่มหมวด “บททั่วไป” ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรา คือมาตราที่ว่าด้วยความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติ วิธีการ และวัตถุประสงค์ (มาตรา 6) และมาตราที่กำหนดให้มี “ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง” (มาตรา 7) ซึ่งเป็นสิ่งใหม่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในพระราชบัญญัติการผังเมืองฉบับใหม่นี้

พระราชบัญญัติฉบับใหม่บัญญัติให้มีการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง เพื่อใช้เป็นหลักการพื้นฐานที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผังเมืองพึงปฏิบัติ โดยให้คณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติเป็นผู้จัดทำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ (มาตรา 75(8)) และให้มีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ของตน (มาตรา 7)

ข้อสงสัยว่า ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมืองนี้จะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร และจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่คงต้องติดตามดูกันต่อไป

ประเภทของผังเมือง

เพิ่มประเภทของผังเมืองขึ้นอีก 3 ประเภท นอกเหนือจาก ผังเมืองรวม และ ผังเมืองเฉพาะ ซึ่งเป็นผังสำหรับกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประเภทของผังเมืองที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ผังนโยบายระดับประเทศ ผังนโยบายระดับภาค และผังนโยบายระดับจังหวัด ซึ่งเป็นผังนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดิน (มาตรา 8) โดยผังนโยบายระดับจังหวัดจะต้องสอดคล้องและเชื่อมโยงกับผังนโยบายระดับภาค ส่วนการวางและจัดทำผังนโยบายระดับภาคจะต้องสอดคล้องและเชื่อมโยงกับผังนโยบายระดับประเทศ (มาตรา 11)

พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้มีเจตนารมณ์ที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน จึงบัญญัติเป็นแนวนโยบายโดยรวมไว้ในมาตรา 9 ว่าในการวางและจัดทำผังทั้ง 5 ประเภท ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้คำนึงถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบในผังแต่ละประเภท และต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบด้วยวิธีการที่หลากหลายและทั่วถึง โดยมีข้อมูลเพียงพอต่อการที่ประชาชนจะเข้าใจถึงผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายแก่ประชาชนหรือชุมชน

สำหรับผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ บัญญัติให้มีการทบทวนทุก 5 ปีหรือในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ สภาพเศรษฐกิจและสังคม หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้นยังบัญญัติให้กรมโยธาธิการและผังเมืองมีหน้าที่จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ของปีงบประมาณที่ผ่านมา เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ (มาตรา 10) และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป (มาตรา 75(7))

ผังเมืองรวม

ในผังเมืองรวมฉบับหนึ่งๆ จะมีองค์ประกอบต่างๆ (ดูรายละเอียดในมาตรา 22) ซึ่งองค์ประกอบหลักยังคงมีเช่นเดียวกับที่บัญญัติในพระราชบัญญัติฉบับเดิม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายการ (3) แผนผัง เดิมกำหนดแผนผังไว้ 4 ประเภท (แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท แผนผังแสดงที่โล่ง แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่ง และแผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ) ในพระราชบัญญัติฉบับใหม่ได้กำหนดให้มีแผนผังเพิ่มขึ้นอีก 3 ประเภท ได้แก่ แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนผังแสดงผังน้ำ และแผนผังอื่น ๆ ที่จำเป็น

สำหรับรายการ (5) ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งให้กำหนดเรื่องอัตราส่วนพื้นที่อาคารปกคลุมดินต่อพื้นที่แปลงที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร (Ground Area Coverage, GAC) พระราชบัญญัติฉบับใหม่ให้ทางเลือกโดยอาจกำหนดเป็น อัตราส่วนพื้นที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมดินของแปลงที่ดินที่อาคารตั้งอยู่ต่อพื้นที่ใช้สอยรวมของอาคาร (Open Space Ratio, OSR) ก็ได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่มีการกำหนดอยู่จริงเป็น OSR ในกรณีของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

สำหรับรายการ (6) นโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนินการเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวม ได้ขยายความในลักษณะชี้นำแนวทางที่เป็นไปได้ ว่าอาจกำหนดเป็น แนวทางในการปรับอัตราส่วน FAR แนวทางในการใช้มาตรการด้านการเงิน การคลัง หรือแนวทางที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาหรือเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งในพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้คือ ได้เปลี่ยนรูปแบบการประกาศใช้บังคับผังเมืองรวม จากเดิมที่ต้องออกเป็นกฎกระทรวง ตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่ การประกาศใช้บังคับผังเมืองรวมให้กระทำโดยการออกเป็น ประกาศกระทรวงมหาดไทย หรือ ข้อบัญญัติท้องถิ่น (มาตรา 33) ขึ้นอยู่กับว่ากรมโยธาธิการและผังเมือง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้วางและจัดทำ

เมื่อได้จัดทำผังเมืองรวมเสร็จ และคณะกรรมการผังเมืองให้ความเห็นชอบแล้ว เดิมจะต้องจัดให้มีการปิดประกาศแผนที่แสดงเขตของผังเมืองรวมไว้ในที่ต่างๆ ตามที่พระราชบัญญัติกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน เพื่อเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้เสียไปตรวจดูแผนผังและข้อกำหนดของผังเมืองรวมได้ ในพระราชบัญญัติฉบับใหม่กำหนดเพิ่มเติมในส่วนของการปิดประกาศว่า ให้เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์และสื่ออื่น ๆ และปิดประกาศแผนที่แสดงเขตและรายละเอียดของผังเมืองรวมไว้ในที่ต่างๆ (ดูมาตรา 29)

มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในการประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวม ที่มีการเพิ่มขึ้นในพระราชบัญญัติฉบับใหม่ คือ หากได้ดำเนินการปิดประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นคำร้อง หรือมี แต่คณะกรรมการผังเมืองสั่งยกคำร้องดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น แล้วแต่กรณี โดยไม่ชักช้า ในกรณีของข้อบัญญัติท้องถิ่น หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ดำเนินการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดสามารถเสนอผังเมืองรวมนั้นให้คณะกรรมการผังเมืองภายใน 60 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดมีมติ เพื่อให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย (รายละเอียดดูมาตรา 32)

สำหรับอายุการใช้บังคับผังเมืองรวม ยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 โดยพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 คือ ไม่มีการกำหนดอายุของผังเมืองรวม แต่ให้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมการใช้บังคังผังเมืองรวมทุกไม่เกิน 5 ปี หากเห็นว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขจึงจะดำเนินการปรับปรุงโดยการวางและจัดทำผังเมืองรวมขึ้นใหม่ (มาตรา 34)

ผังเมืองเฉพาะ

องค์ประกอบของผังเมืองเฉพาะ (ดูรายละเอียดในมาตรา 40) มีการปรับปรุงในพระราชบัญญัติฉบับใหม่ เช่น เพิ่มให้มีแผนผังแสดงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่อนุรักษ์ สำหรับข้อกำหนดที่จะให้ปฏิบัติหรือไม่ให้ปฏิบัติ ในส่วนของข้อกำหนดเกี่ยวกับอาคาร นอกจาก ประเภท ชนิด ขนาด และจำนวนของอาคารที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ก่อสร้างแล้ว ยังได้เพิ่มการกำหนดเรื่อง ลักษณะ และความสูง ด้วย และเพิ่มข้อกำหนดประเภทและขนาดของกิจการที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินการ

ปรับปรุงรูปแบบการประกาศใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ จากเดิมที่ให้ออกเป็นพระราชบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่ การประกาศใช้บังคับผังเมืองเฉพาะให้กระทำโดยการออกเป็น พระราชบัญญัติ หรือ พระราชกฤษฎีกา การจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกานั้นกระทำได้ในกรณีที่ไม่มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ที่อุปกรณ์ การดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร การนำที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือหน่วยงานรัฐเป็นเจ้าของ ครอบครอง หรือดูแลรักษามาใช้ประโยชน์ (มาตรา 39 และมาตรา 48)

ส่วนการให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียดข้อกำหนดที่จะให้ปฏิบัติหรือไม่ให้ปฏิบัติ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามผังเมืองเฉพาะด้วยก็ได้ ซึ่งหากมีข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติที่ออกตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ ก็ให้ใช้กฎกระทรวงที่ออกตามผังเมืองเฉพาะแทน ก็ยังคงกำหนดไว้แต่จะต้องเขียนกำหนดเอาไว้ในพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาด้วยว่าให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงในเรื่องดังกล่าว (มาตรา 40 วรรคท้าย และมาตรา 50)

ในขณะที่พระราชบัญญัติฉบับเดิมบัญญัติให้พระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะใช้บังคับได้ไม่เกิน 5 ปี เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาลงแล้ว หากเห็นสมควรขยายระยะเวลาการใช้บังคับก็ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติขยายระยะเวลาการใช้บังคับ หรือในกรณียังไม่สิ้นสุดระยะเวลาแต่เห็นสมควรแก้ไขปรับปรุง ก็ให้เสนอต่อคณะกรรมการผังเมือง ถ้าคณะกรรมการผังเมืองเห็นชอบก็รายงานรัฐมนตรีเพื่อออกเป็นกฎกระทรวงแก้ไขปรับปรุงผังเมืองเฉพาะ ส่วนในพระราชบัญญัติฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาการใช้บังคับพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะเอาไว้ บัญญัติเพียงว่า ในระหว่างที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะในท้องที่ใด ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือกรมโยธาธิการและผังเมืองเห็นว่าสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมในเขตของผังเมืองเฉพาะได้เปลี่ยนแปลงไป สมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ให้เหมาะสม ก็ให้เสนอขอแก้ไขปรับปรุงต่อคณะกรรมการผังเมือง (มาตรา 49)

คณะกรรมการ

ในเรื่องของการกำกับดูแล พระราชบัญญัติฉบับเดิมบัญญัติให้มี คณะกรรมการผังเมือง ส่วนในพระราชบัญญัติฉบับใหม่ นอกจากคณะกรรมการผังเมือง (หมวด 6) ได้เพิ่มคณะกรรมการขึ้นอีก 2 ประเภทคณะ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ (หมวด 5) และ คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดของแต่ละจังหวัด (หมวด 7)

คณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบายและเป้าหมายเกี่ยวกับการผังเมืองและการพัฒนาเมืองของประเทศ ให้ความเห็นชอบผังนโยบายระดับประเทศและผังนโยบายระดับภาค ฯลฯ (ดูรายละเอียดในมาตรา 75) มีองค์ประกอบได้แก่ นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นอกจากนั้นมีกรรมการโดยตำแหน่ง 16 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปีอีกไม่เกิน 13 คน (มาตรา 71)

สำหรับ คณะกรรมการผังเมือง ซึ่งเป็นคณะที่มีอยู่เดิม มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบ (ดูรายละเอียดในมาตรา 80) คือ กรรมการโดยตำแหน่ง เดิมมี 7 คน เพิ่มเป็น 9 คน ตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในขณะที่มีตำแหน่งที่ตัดออกไปคือ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการผังเมืองได้แก่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ เดิมกำหนดไว้ 8 ด้านรวมไม่เกิน 9 คน ปรับเป็นด้านต่างๆ 9 ด้าน จำนวนด้านละหนึ่งคน (รวมเป็น 9 คน) กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนสภาต่างๆ 5 สภา โดยเพิ่มผู้แทนสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัดผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนสถาบันหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง จำนวนไม่เกิน 4 คนเท่าเดิม แต่ระบุเพิ่มว่าจะต้องมาจากภาคประชาสังคมอย่างน้อย 1 คน

คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด มีหน้าที่และอำนาจให้ความเห็นชอบผังเมืองรวมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้วางและจัดทำ จัดทำรายงานสรุปผลการวางและจัดทำผังเมืองที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด ฯลฯ (ดูรายละเอียดในมาตรา 86) มีองค์ประกอบ สำหรับกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ มีกรรมการโดยตำแหน่งที่ระบุไว้ 11 คน ผู้แทนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมืองจำนวนไม่เกิน 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 4 คน และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมืองอีกไม่เกิน 4 คน สำหรับจังหวัดอื่น มี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ มีกรรมการโดยตำแหน่งที่ระบุไว้ 25 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 10 คน (มาตรา 85)

ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทุกคณะ พระราชบัญญัติฉบับใหม่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้เช่นเดิม และเพิ่มลักษณะต้องห้ามขึ้นอีกหนึ่งอย่างคือ ไมเคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่ ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ดูรายละเอียดในมาตรา 72)

บทเฉพาะกาล

กฎหมายระดับต่างๆ ที่ยังใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติใหม่นี้ จนกว่าจะได้มีการออกกฎหมายลูกบทใหม่ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ส่วนกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ใช้บังคับ ก็ให้ใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีประกาศกระทรวงมหาดไทยหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นให้ใช้บังคับผังเมืองรวมออกมาใช้บังคับในพื้นที่เดียวกัน ส่วนในกรณีที่จะแก้ไขหรือยกเลิกกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมฉบับใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กระทำโดยประกาศกระทรวงมหาดไทยหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น

ดาวน์โหลด: พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562

Facebook
Twitter
LinkedIn