การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
19 เม.ย. 2563

ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 74/2547 เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2557 วางหลักเกณฑ์การปฏิบัติในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไว้แล้ว แต่ในปัจจุบันที่เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นภาวะการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) เนื่องจากเป็นโรคเกิดใหม่ที่ยังไม่มีแนวทางการรักษาที่ชัดเจน ทำให้ต้องใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อควบคุมการระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทำให้การปฏิบัติงานในเกือบทุกภาคส่วนไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนต้องปรับเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดโรค เช่น มีการทำงานจากบ้าน (work from home) มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือกันมีการดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในลักษณะ video conference หรือ video call มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฯ ฉบับดังกล่าวได้วางหลักเกณฑ์สำหรับการประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุม กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อยหนึ่งในสามขององค์ประชุมยังคงต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายที่ให้เว้นระยะห่างทางสังคม เพราะผู้เข้าร่วมประชุมในสถานที่เดียวกันมีความเสี่ยงที่จะติดโรคสูง นอกจากนั้นหลักเกณฑ์เดิมยังกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดต้องอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานจริง อีกทั้งเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ดีขึ้น ปัญหาดังกล่าวทำให้ส่งผลกระทบต่อทั้งการบริหารราชการแผ่นดินและการประกอบกิจกรรมต่างๆ ของภาคเอกชน ในหลายกรณีรุนแรง เช่น ต้องเลื่อนประชุมใหญ่สามัญออกไปโดยไม่มีกำหนด

รัฐบาลจึงได้ตรา “พระราชกำหนด ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวโดยรีบด่วน โดยให้ใช้สำหรับการประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุม ที่ได้กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ร่วมประชุมมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันและสามารถประชุมปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ไม่ให้ใช้บังคับแก่การประชุมบางประเภท ได้แก่ การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการประชุมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พระราชกำหนดบัญญัติว่าต้องจัดให้มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพของผู้ร่วมประชุมทุกคนตลอดระยะเวลาที่มีการประชุมในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่เป็นการประชุมลับ และต้องจัดเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนไว้เป็นหลักฐานด้วย

Facebook
Twitter
LinkedIn