กำหนดงานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมที่ห้ามคนต่างด้าวทำ

กำหนดงานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมที่ห้ามคนต่างด้าวทำ
21 เม.ย. 2563

กระทรวงแรงงานออก “ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ประกาศกระทรวงแรงงานฉบับนี้ ได้กำหนดงานต่างๆ ที่ห้ามคนต่างด้าวทำ แบ่งออกเป็น 4 บัญชี บัญชีหนึ่ง เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาดในทุกท้องที่ในราชอาณาจักร บัญชีสอง เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำในทุกท้องที่ในราชอาณาจักรโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย บัญชีสาม เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำในทุกท้องที่ในราชอาณาจักรโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง และบัญชีสี่ เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำในทุกท้องที่ในราชอาณาจักรโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ

สำหรับบัญชีสอง ประกอบด้วยงานในวิชาชีพบัญชี วิศวกรรม และสถาปัตยกรรม โดยงานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมและวิชาชีพวิศวกรรม กำหนดดังนี้
– งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวกับงานให้คำปรึกษา งานวางโครงการ งานออกแบบและคำนวณ งานควบคุมการก่อสร้าง หรือการผลิต งานพิจารณาตรวจสอบ งานอำนวยการใช้ จัดระบบ วิจัย ทดสอบ ยกเว้นเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (MRA) รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวกับการให้บริการวิศวกรรมข้ามแดน หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร
– งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานศึกษาโครงการ งานออกแบบ งานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง งานตรวจสอบ หรืองานให้คำปรึกษา ยกเว้นเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมและวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียนด้านบริการสถาปัตยกรรม (MRA) รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวกับการให้บริการสถาปนิกข้ามแดนจากสภาสถาปนิก หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิก

ในกรณีของวิชาชีพสถาปัตยกรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนต่างด้าวที่จะสามารถประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม (ทั้งที่ไม่เป็นวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมและที่เป็นวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม) ไม่ว่าจะเป็นชนิดงานใด (ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิก) จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมระดับภาคีสถาปนิกพิเศษจากสภาสถาปนิก (ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานตามเงื่อนไขที่สภาสถาปนิกประกาศกำหนด) หรือหากไม่เป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตฯ ก็จะต้องเป็นผู้ที่เข้ามาประกอบวิชาชีพตามข้อตกลงการยอมรับร่วมกันของอาเซียนด้านบริการสถาปัตยกรรม (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Architectural Services: MRA) ที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 หรือข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่อาจมีขึ้นในอนาคต

ในกรณีของ MRA สภาสถาปนิกได้กำหนดหลักการและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อผูกพันดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างสถาปนิกต่างด้าวและสถาปนิกไทยบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและการยอมรับถึงความเหมือนและความแตกต่างในกฎเกณฑ์การปฏิบัติวิชาชีพ โดยคำนึงถึงความพร้อมและการเตรียมการให้เกิดความพร้อมของเหล่าสถาปนิกไทย จึงได้ออก “ประกาศสภาสถาปนิก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนเพื่อการปฏิบัติวิชาชีพร่วมกันระหว่างสถาปนิกไทยกับสถาปนิกต่างด้าว พ.ศ. 2556” เพื่อให้การปฏิบัติวิชาชีพของสถาปนิกต่างด้าวในประเทศไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ

สำหรับวิชาชีพสถาปัตยกรรมและวิชาชีพวิศวกรรม ซึ่งเป็นกรณีเป็นงานที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรอง คนต่างด้าวจะขอรับใบอนุญาตทำงานได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองตามกฎหมายนั้นแล้ว

Facebook
Twitter
LinkedIn