กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดชลบุรี

กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดชลบุรี
24 ก.ค. 2563

 

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออก “ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2563” เพื่อใช้แทนฉบับเดิม พ.ศ. 2553 ประกาศฯฉบับนี้ได้กำหนดอายุใช้บังคับ 5 ปี คือตั้งแต่ 25 ก.ค. 2563 ถึง 24 ก.ค. 2568 ครอบคลุมพื้นที่เช่นเดิม มีการปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมข้อกำหนดในรายละเอียดบางอย่าง พอสรุปในส่วนที่น่าสนใจโดยเน้นในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ดังนี้

 

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร

พื้นที่ที่วัดจากระดับน้ำทะเลปานกลางเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ 100 เมตร ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 14 เมตร และต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของที่ดินแปลงที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของที่ว่าง (เดิมไม่ได้กำหนดเรื่องพื้นที่สีเขียวด้วย)

เพิ่มข้อกำหนดสำหรับพื้นที่บนเกาะล้าน เกาะครก และเกาะสาก ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร และต้องมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของที่ดินแปลงที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของที่ว่าง

พื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ 20 ถึง ร้อยละ 35 เดิม ให้มีได้เฉพาะอาคารประเภทบ้านเดี่ยวหรืออาคารเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร และขนาดแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 100 ตารางวา ในประกาศฯฉบับใหม่กำหนดข้อจำกัดความสูงที่เข้มขึ้นสำหรับเกาะล้าน เกาะครก และเกาะสาก ส่วนเนื้อที่เพิ่มข้อกำหนดกรณีเนื้อที่น้อยกว่า 100 ตารางวาด้วย โดยกำหนดหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
– พื้นที่บนแผ่นดินใหญ่ ให้ทำได้เฉพาะอาคารประเภทบ้านเดี่ยวหรืออาคารเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร
– พื้นที่บนเกาะล้าน เกาะครก และเกาะสาก ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร

พื้นที่ที่มีความลาดชันร้อยละ 20 ถึง ร้อยละ 35 ในกรณีที่ขนาดของที่ดินแปลงที่ยื่นขออนุญาตมีเนื้อที่ ตั้งแต่ 100 ตารางวาขึ้นไป ให้มีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน 90 ตารางเมตร มีที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของที่ดินแปลงที่ยื่นขออนุญาต และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของที่ว่าง สำหรับกรณีที่ขนาดของที่ดินแปลงที่ยื่นขออนุญาตมีเนื้อที่น้อยกว่า 100 ตารางวา ให้มีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน 70 ตารางเมตร และมีที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของที่ดินแปลงที่ยื่นขออนุญาต และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของที่ว่าง ทั้งนี้ ที่ว่างของที่ดินแปลงที่ยื่นขออนุญาตทั้งสองกรณีต้องมีไม้ยืนต้นที่เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก

พื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 35 ขึ้นไป ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใด ๆ (เดิม ห้ามที่ความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป ส่วนความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 35 ถึงร้อยละ 50 เดิมให้มีได้เฉพาะอาคารเดี่ยวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด)

พื้นที่ภายในบริเวณระยะ 6 เมตร จากแนวริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะ ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใด ๆ เว้นแต่เป็นการก่อสร้างเพื่อประโยชน์สาธารณะในการคมนาคมทางน้ำหรือการสาธารณูปโภค โดยต้องได้รับความเห็นจากคณะกรรมการ เพื่อนำไปประกอบการขออนุญาต (เดิม หากเป็นคลองสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร บังคับเฉพาะพื้นที่ภายในบริเวณระยะ 3 เมตรจากแนวเขตคลองสาธารณะ)

 

หลักเกณฑ์การประกอบกิจกรรม

เพิ่มข้อกำหนดลักษณะหรือบริเวณที่ห้ามประกอบกิจกรรม การขุด ตัก หรือดูด กรวด ดิน หินผุ ทราย หรือลูกรัง (ดูรายละเอียดในข้อ 8 (2) ของประกาศฯ)

ในประกาศฯฉบับใหม่นี้ไม่มีข้อกำหนดห้ามการติดตั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายบนพื้นดิน (เดิมมี)

เพิ่มข้อกำหนดห้ามจัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม ยกเว้นในบริเวณที่มีการกำหนดเป็นเขตที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง

 

การจัดทำ IEE หรือ EIA

การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) มีหลักเกณฑ์โครงการหรือการประกอบกิจการที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น
– โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม หรืออาคารชุด ที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลเกินกว่า 50 เมตร ซึ่งมีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 30 ห้อง ถึง 79 ห้อง หรือมีพื้นที่ใช้สอยของทุกอาคารดังกล่าวรวมกันตั้งแต่ 1,500 ตารางเมตร แต่ไม่ถึง 4,000 ตารางเมตร (เดิม 10 ถึง 79 ห้อง)
– กิจการที่นำบ้านพักอาศัยที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 30 ห้อง ถึง 79 ห้อง หรือห้องแถว ตึกแถว หรือบ้านแถว ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 30 ห้อง ถึง 79 ห้อง ที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อกัน ไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรม (เดิม 10 ถึง 79 หลัง)
– ส่วนโครงการหรือการประกอบกิจการข้างต้น ที่มีจำนวน 10 ถึง 29 ห้อง/หลัง ประกาศฯฉบับใหม่นี้กำหนดให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องการและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ท้ายประกาศฯ
– การจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ ที่มีจำนวนแปลงที่ดินตั้งแต่ 30 แปลง แต่ไม่ถึง 500 แปลง หรือมีเนื้อที่ตั้งแต่ 1.8 ไร่ แต่ไม่เกิน 100 ไร่ (เดิม ไม่ถึง 250 แปลง หรือมีเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่)
– เดิม ทางหรือถนนส่วนบุคคลที่ก่อสร้างบนพื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ 15 ขึ้นไปและมีความยาวต่อเนื่องกันตั้งแต่ 500 ถึง 1,500 เมตร ต้องทำ IEE ในประกาศฯฉบับใหม่ไม่มีแล้ว

การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีหลักเกณฑ์โครงการหรือการประกอบกิจการที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น
– โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม หรืออาคารชุด ที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่เกิน 50 เมตร หรืออยู่ห่างจากแนวชายเกาะไม่เกิน 50 เมตร กรณีที่เกาะนั้นไม่มีชายฝั่งทะเล (เดิมไม่มี)
– เดิม ทางหรือถนนส่วนบุคคลที่ก่อสร้างบนพื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ 15 ขึ้นไป และมีความยาวต่อเนื่องกันเกินกว่า 1,500 เมตร ต้องทำ EIA ในประกาศฯฉบับใหม่ไม่มีแล้ว

 

ข้อกำหนดควบคุมชายฝั่งทะเลจังหวัดชลบุรี

ในการใช้บังคับตามประกาศฯฉบับนี้ หากมีกฎหมายอื่นที่กำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่าหรือดีกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น อย่าลืมว่า นอกจากประกาศกระทรวงทรัพยากรฯฉบับนี้ซึ่งเป็นการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีกฎกระทรวงควบคุมอาคาร ซึ่งควบคุมเรื่องการก่อสร้างฯ ในจังหวัดชลบุรีเช่นกัน ได้แก่ กฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2524) ซึ่งจะต้องถูกนำมาพิจารณาร่วมกับประกาศกระทรวงตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ด้วย

 

ดาวน์โหลดประกาศฯ eqa/ma63-04.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn