ปรับหลักเกณฑ์คะแนนในการเลื่อนระดับสถ.หลัก ฯลฯ

ปรับหลักเกณฑ์คะแนนในการเลื่อนระดับสถ.หลัก ฯลฯ
14 ส.ค. 2563

สภาสถาปนิกออกข้อบังคับสภาสถาปนิก 2 ฉบับที่ผ่านการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ได้แก่
(1) ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยการเลือกและการเลือกตั้งกรรมการสภาสถาปนิก พ.ศ. 2563
(2) ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับ การออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการออกหลักฐานรับรองการได้รับใบอนุญาต (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563 ข้อบังคับสภาสถาปนิกฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป

ข้อบังคับสภาสถาปนิกทั้งสองฉบับมีเนื้อหาพอสรุปได้ดังนี้

ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยการเลือกและการเลือกตั้งกรรมการสภาสถาปนิก พ.ศ. 2563 ออกมาเพื่อใช้บังคับแทนข้อบังคับฉบับเดิม พ.ศ. 2545 เป็นการปรับปรุงจากข้อบังคับฉบับเดิมในหลายเรื่อง เพื่อให้เกิดความชัดเจน ความเหมาะสมในการปฏิบัติ ประเด็นที่สำคัญบางประเด็น เช่น
– เพิ่มระยะเวลาการประกาศให้มีการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง จากไม่น้อยกว่า 90 วัน เป็นไม่น้อยกว่า 120 วัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการมากขึ้น และทำให้ผู้สมัครมีเวลาในการประชาสัมพันธ์เพื่อแสดงนโยบาย วิสัยทัศน์ ฯลฯ มากขึ้น
– เพิ่มข้อกำหนดให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และให้เผยแพร่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับทราบ
– กำหนดให้บัตรเลือกตั้งแยกเป็นบัตรเลือกตั้งสำหรับกรรมการแต่ละประเภท ในกรณีที่บัตรเสียในส่วนใดเพียงส่วนเดียวก็จะไม่ทำให้อีกส่วนหนึ่งพลอยเป็นบัตรเสียไปด้วย และให้มีช่องกาไม่ประสงค์จะลงคะแนนซึ่งผู้ลงคะแนนเสียงสามารถเลือกที่จะไม่ลงคะแนนเสียงกรรมการประเภทใดประเภทหนึ่งหรือทั้งสองประเภทก็ได้
– เพิ่มระยะเวลาที่ให้จัดส่งบัตรเลือกตั้งไปให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง จากไม่น้อยกว่า 15 วัน เป็นไม่น้อยกว่า 60 วัน เพื่อให้ผู้มีสิทธิมีเวลาพิจารณามากขึ้น และสอดคล้องกับการขยายระยะเวลาการประกาศให้มีการเลือกตั้ง

ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพฯ พ.ศ. 2552 โดยมีการปรับปรุงในเรื่องต่อไปนี้
(1) ปรับหลักเกณฑ์คะแนนที่อาจได้รับสำหรับผลงานในชนิดงานออกแบบ และงานบริหารและอำนวยการก่อสร้างที่สามารถนำมาใช้ยื่นประกอบการพิจารณาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม เฉพาะสาขาสถาปัตยกรรมหลัก ระดับสามัญสถาปนิก และระดับวุฒิสถาปนิก
1) งานออกแบบ จากเดิมผลงานซึ่งงานก่อสร้างแล้วเสร็จผลงานละ 100 คะแนน ปรับเป็น 3 ขั้นคือ ผลงานที่ไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ยังคงได้รับคะแนน 100 คะแนน ผลงานที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ขึ้นไปแต่ไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ปรับเป็น 150 คะแนน และผลงานที่เป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ 200 คะแนน ส่วนกรณีผลงานซึ่งงานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จฯ จากเดิมผลงานละ 50 คะแนน ก็ปรับเป็นตามประเภทอาคาร 50, 75 และ 100 คะแนน ตามลำดับ
2) งานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง จากเดิม 50 คะแนนต่อผลงาน ปรับเป็นตามประเภทอาคารเช่นเดียวกับงานออกแบบ โดยอาจได้รับ 50, 150 และ 200 คะแนน ตามลำดับ
(2) ปรับคะแนนผลงานรวมสำหรับสาขาสถาปัตยกรรมหลัก ระดับวุฒิสถาปนิก จากเดิม 700 คะแนน เป็น 1,000 คะแนน
(3) ผู้ขอรับใบอนุญาตฯทุกสาขา อาจนำหน่วย พวต. ที่มีอายุไม่เกินห้าปี มาใช้แทนคะแนนผลงานได้ แต่ไม่เกิน 60 คะแนน โดยหนึ่งหน่วย พวต. คิดเป็นหนึ่งคะแนน
(4) ในการขอรับใบอนุญาตฯทุกสาขา กรณีเป็นผลงานร่วมของสถาปนิกหลายคน เดิมกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่ละผลงานไว้สองแบบคือ หัวหน้าสถาปนิกร้อยละ 60 และสถาปนิกผู้ร่วมงานเฉลี่ยจากร้อยละ 40 หรือไม่ก็เฉลี่ยเท่ากันทุกคนหากไม่ได้ระบุว่าผู้ใดเป็นหัวหน้าสถาปนิก ในข้อบังคับฯ (ฉบับที่ 5) นี้ได้เพิ่มหลักเกณฑ์อีกหนึ่งแบบ คือสามารถคิดร้อยละของผลงานเป็นสัดส่วนต่างจากสองแบบแรกก็ได้ หากได้รับความยินยอมจากสถาปนิกที่ร่วมงานทุกคน
(5) เปิดโอกาสให้บุคคลอื่นคัดค้านผลงานที่ยื่นประกอบการพิจารณาได้ เพื่อให้เกิดกระบวนการและขั้นตอนในการตรวจสอบให้เป็นไปโดยสุจริต

การปรับปรุงหลักเกณฑ์คะแนนสำหรับการเลื่อนระดับของสาขาสถาปัตยกรรมหลักดังกล่าว จะทำให้การขอรับใบอนุญาตฯระดับสามัญสถาปนิกง่ายขึ้น เพราะคะแนนรวมคงเดิม แต่มีโอกาสที่จะใช้ผลงานที่อาจได้รับคะแนนมากขึ้น ทำให้จำนวนผลงานลดลงได้ ส่วนในระดับวุฒิสถาปนิก ปรับคะแนนรวมเพิ่มขึ้น ในกรณีใช้ผลงานขนาดเล็กจะต้องมีจำนวนผลงานมากขึ้น ในขณะที่หากใช้ผลงานขนาดใหญ่จำนวนผลงานจะลดลงได้ นอกจากนั้น หากมีการเก็บหน่วย พวต. ไว้ ก็สามารถนำมาใช้ได้ถึง 60 คะแนน ซึ่งทำให้คะแนนผลงานที่ต้องใช้ลดลงด้วย

อนึ่ง สำหรับหลักเกณฑ์คะแนนสำหรับสาขาอื่น คือ สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ก็คาดว่าจะมีการปรับปรุงต่อไปในแนวทางนี้เช่นกัน

ดาวน์โหลด:
aa\cr63.pdf
aa\cr63(05)-02.pdf

 

Facebook
Twitter
LinkedIn