กฎกระทรวง การออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

กฎกระทรวง การออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
12 พ.ย. 2563

กระทรวงพลังงาน ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 เพื่อใช้แทนกฎกระทรวงฉบับเดิม พ.ศ. 2552 โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป

ในกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ ยังคงกำหนดให้อาคารประเภทโรงมหรสพ, โรงแรม, สถานบริการ, สถานพยาบาล, สถานศึกษา, สำนักงานหรือที่ทำการ, ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า, อาคารชุด, อาคารชุมนุมคน ที่มีพื้นที่อาคารในหลังเดียวกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎกระทรวงนี้ อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงมีบทเฉพาะกาลสำหรับในระยะเริ่มแรก ให้เป็นการทยอยใช้บังคับสำหรับอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรก่อน เริ่มใช้บังคับกับอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรแต่ไม่ถึง 10,000 ตารางเมตร เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปี และเริ่มใช้บังคับกับอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรแต่ไม่ถึง 5,000 ตารางเมตร เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาสองปี

ข้อกำหนดเกี่ยวกับค่ามาตรฐานและการคำนวณที่น่าสนใจ เช่น
– ระบบเปลือกอาคารต้องมีค่าการถ่ายเทความร้อนรวม (OTTV และ RTTV) เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
– อุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างภายในอาคาร ต้องมีค่ากำลังไฟฟ้าส่องสว่างสูงสุดของอาคาร ไม่เกินค่ามาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
– ระบบปรับอากาศ ต้องมีค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะขั้นต่ำ ค่าประสิทธิภาพพลังงานตามฤดูกาล หรือค่ากำลังไฟฟ้าต่อตันความเย็น เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
– อุปกรณ์ผลิตน้ำร้อน ต้องมีค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะขั้นต่ำ และค่าประสิทธิภาพขั้นต่ำ เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
– การคำนวณในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
จะเห็นว่า การกำหนดค่ามาตรฐานต่างๆ ต่างจากกฎกระทรวงฉบับเดิมซึ่งกำหนดค่าต่างๆ ไว้ในกฎกระทรวงเลย แต่กฎกระทรวงนี้ให้กำหนดในประกาศกระทรวงซึ่งจะออกตามมาต่อไป

ในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเช่นกัน โดยจะต้องมีการตรวจประเมินการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร สำหรับการแสดงผลการตรวจประเมินให้แสดงรายการคำนวณตามวิธีการตามประกาศกระทรวง หรือตามวิธีการของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือตามมาตรฐานที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

กฎกระทรวงกำหนดให้เจ้าของอาคารมีหน้าที่จัดทำรายงานผลการตรวจประเมินในการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร และจัดหาผู้ที่มีคุณสมบัติในการตรวจประเมินเป็นผู้รับรอง เพื่อประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตหรือแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร โดยกำหนดให้การตรวจประเมิน กระทำโดยผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือสถาปัตยกรรมควบคุม ซึ่งจะต้องได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานว่าเป็นผู้สำเร็จการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กรมฯกำหนด

นอกจากในขั้นการขอรับใบอนุญาตหรือแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารแล้ว เมื่อก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารแล้วเสร็จ เจ้าของอาคารยังมีหน้าที่ยื่นเอกสารที่มีการรับรองว่าอาคารได้มีการออกแบบและก่อสร้างหรือดัดแปลงเพื่อการอนุรักษ์พลังงานอีกครั้งหนึ่ง เพื่อใช้ประกอบการยื่นขอใบรับรองการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร

อนึ่ง เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งมาตรา 20 บัญญัติให้กฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 19 ถ้าคณะกรรมการควบคุมอาคาร(ตามกฎหมายควบคุมอาคาร)ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบที่จะนำมาใช้บังคับกับการควบคุมอาคาร ก็ให้ถือว่ากฎกระทรวงดังกล่าวมีผลเสมือนเป็นกฎกระทรวงตามกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งประเด็นนี้เป็นปัญหาของกฎกระทรวงฉบับเดิม พ.ศ. 2552 เนื่องจากคณะกรรมการควบคุมอาคารไม่ได้ให้ความเห็นชอบ จึงทำให้กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2552 ไม่มีสภาพบังคับจริง สำหรับกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ ในขั้นตอนต่อไป กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานจะต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการควบคุมอาคารพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาในช่วงระยะเวลา 120 วันก่อนการใช้บังคับ ซึ่งหากคณะกรรมการควบคุมอาคารให้ความเห็นชอบ กฎกระทรวงฉบับนี้ก็จะถูกใช้บังคับเสมือนเป็นกฎกระทรวงฉบับหนึ่งที่ออกตามกฎหมายควบคุมอาคารต่อไป

ดาวน์โหลด: eca\mr63.pdf

 

Facebook
Twitter
LinkedIn