กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดการแก้ไขอาคารเก่าที่อาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย

กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดการแก้ไขอาคารเก่าที่อาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย

3 ธ.ค. 2563

กระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงควบคุมอาคารฉบับใหม่ “กฎกระทรวง การแก้ไขอาคารที่มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563” เพื่อใช้บังคับแทน กฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540)

กฎกระทรวงฉบับใหม่นี้เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแก้ไขอาคารที่มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีความเหมาะสม ทันสมัย และมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านอัคคีภัยที่สูงขึ้น เพื่อให้อาคารดังกล่าวมีความปลอดภัยแก่ผู้ใช้อาคาร

กฎกระทรวงฉบับนี้ เช่นเดียวกับ กฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) คือ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไขระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยของอาคาร เมื่อเปรียบเทียบกฎกระทรวงฉบับใหม่กับกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 เดิม มีข้อที่ได้ปรับปรุงหรือเพิ่มเติม โดยสังเขป ดังนี้

– อาคารที่อยู่ในข่ายที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นอาจสั่งให้มีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไข นอกจาก อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะ อาคารอยู่อาศัยรวม โรงงาน ภัตตาคาร สำนักงาน ที่กำหนดไว้เดิมแล้ว ได้เพิ่ม อาคารชุมนุมคน อาคารชุด หอพัก และคลังสินค้า
– ในการสั่งการให้แก้ไขอาคาร กฎกระทรวงฉบับใหม่ระบุไว้ให้ชัดเจนขึ้นว่า การดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคาร แต่ต้องยื่นแบบให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาให้ความเห็นชอบ และในกรณีที่อาคารเป็นภยันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายที่เกิดจากความไม่มั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร แบบที่ยื่นจะต้องมีการรับรองโดยสามัญวิศวกรขึ้นไป
– สำหรับเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นอาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการ นอกจากเรื่องพื้นฐานต่างๆ ที่กำหนดไว้เดิมและมีการปรับปรุงแล้ว มีเรื่องที่เพิ่มขึ้นหลายเรื่อง เช่น
– ให้มีการอุดหรือปิดล้อมช่องท่อและช่องว่างระหว่างท่อที่ผ่านพื้นหรือผนังเพื่อป้องกันไม่ให้ควันและไฟลุกลาม และเพิ่มความสมบูรณ์ของส่วนกั้นแยกของพื้นหรือผนังทนไฟให้ใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
– บันไดหนีไฟและชานพักที่อยู่ภายนอกอาคาร ผนังด้านที่บันไดพาดผ่านต้องเป็นผนังที่มีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
– บันไดที่ไม่ใช่บันไดหนีไฟในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ผนังหรือประตูต้องทำด้วยวัสดุไม่ติดไฟที่สามารถปิดกั้นมิให้เปลวไฟและควันเข้าไปในบริเวณบันได
– อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ หากมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอัคคีภัย เข่น ห้องเก็บสิ่งของหรือวัสดุจำนวนมาก ห้องเก็บวัตถุอันตรายหรือวัตถุไวไฟ หรือห้องควบคุมระบบอุปกรณ์ของอาคาร ต้องมีการกั้นแยกพื้นที่โดยมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หรือติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ หรือระบบอื่นที่เทียบเท่า
– อาคารสูง ต้องติดตั้งระบบป้องกันเพลิงไหม้ซึ่งประกอบด้วยระบบท่อยืน หัวรับน้ำดับเพลิง ตู้สายฉีดน้ำดับเพลิง ตามที่กำหนด

สำหรับเรื่องการกั้นแยกซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในกฎหมายควบคุมอาคาร กฎกระทรวงฉบับนี้ได้ให้บทนิยาม “การกั้นแยก” ไว้หมายความว่า การกั้นแยกพื้นที่อาคารออกเป็นส่วนๆ ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ควันและไฟลุกลามระหว่างแต่ละส่วนของอาคาร โดยหมายรวมถึงการแบ่งส่วนในแนวราบ เช่น ผนัง ประตู หน้าต่าง และการแบ่งส่วนในแนวดิ่ง เช่น พื้นหรือเพดาน

ดาวน์โหลด: cba\mr\mr63-68a.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn