กฎกระทรวงกำหนดเรื่องการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวฉบับใหม่

กฎกระทรวงกำหนดเรื่องการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวฉบับใหม่
4 มี.ค. 2564

กระทรวงมหาดไทยออก “กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564″ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 เพื่อใช้บังคับแทนกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักฯ ฉบับเดิม พ.ศ. 2550 โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

กฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ได้ปรับปรุงบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในประเทศมากขึ้น จากเดิมมี บริเวณเฝ้าระวัง บริเวณที่ 1 และบริเวณที่ 2 โดยแบ่งใหม่เป็น 3 บริเวณ ได้แก่
– บริเวณที่ 1 (เดิมคือ บริเวณเฝ้าระวัง) มี 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร สงขลา สุราษฎร์ธานี โดยมีหลายจังหวัดที่เพิ่มเติมขึ้นมา ได้แก่ ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี เลย สตูล และหนองคาย และมีบางจังหวัดที่ปรับย้ายไปเป็นบริเวณที่ 2 (พังงา ภูเก็ต ระนอง)
– บริเวณที่ 2 (เทียบได้กับ บริเวณที่ 1 เดิม) เป็นบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง มี 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร โดยมีจังหวัดที่ปรับย้ายมาจากบริเวณเฝ้าระวังเดิม คือ พังงา ภูเก็ต ระนอง และมีจังหวัดที่เพิ่มเติมขึ้นมา ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี และอุทัยธานี
– บริเวณที่ 3 (เทียบได้กับ บริเวณที่ 2 เดิม) เป็นบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบในระดับสูง มี 12 จังหวัด ได้แก่จังหวัดเดิม 10 จังหวัด คือ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน และเพิ่มขึ้น 2 จังหวัด คือ สุโขทัย และอุตรดิตถ์

สำหรับประเภทอาคารที่ให้ใช้บังคับตามกฎกระทรวงฉบับนี้ ได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมมากขึ้นในทั้งสามบริเวณ (ดูรายละเอียดในข้อ 4 ของกฎกระทรวง) ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ไม่ได้บรรจุไว้ในกฎกระทรวงฉบับนี้ แต่จะเป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา หรือหลักเกณฑ์บางสวนอาจเป็นไปตามที่มีการจัดทำขึ้นโดยส่วนราชการที่มีหน้าที่และอำนาจในเรื่องนั้น ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆให้มีความทันสมัยเป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยคาดว่าจะมีการออกประกาศกำหนดรายละเอียดเพื่อใช้ในการออกแบบและคำนวณภายในระยะเวลาก่อนการใช้บังคับกฎกระทรวงฉบับนี้

ดาวน์โหลด: cba\mr\mr64-68b.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn