หลักเกณฑ์ของผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละระดับ ฯลฯ

หลักเกณฑ์ของผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละระดับ ฯลฯ
18 มี.ค. 2564

สภาสถาปนิกออกข้อบังคับสภาสถาปนิก 3 ฉบับที่ผ่านการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ได้แก่
(1) ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยโรคที่ต้องห้ามในการเป็นสมาชิกสภาสถาปนิก พ.ศ. 2564
(2) ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับ พ.ศ. 2564
(3) ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ พ.ศ. 2564

ข้อบังคับสภาสถาปนิกทั้งสามฉบับมีผลใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มีเนื้อหาพอสรุปได้ดังนี้

1. ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยโรคที่ต้องห้ามในการเป็นสมาชิกสภาสถาปนิก พ.ศ. 2564 เป็นข้อบังคับที่ออกตามมาตรา 12 ซึ่งบัญญัติให้สมาชิกสามัญของสภาสถาปนิกต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด และใน (6) ของมาตรา 12 กำหนดว่าต้องไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก ข้อบังคับสภาสถาปนิกฉบับนี้เป็นการปรับปรุงแก้ไขเพื่อใช้บังคับแทนข้อบังคับฉบับเดิม พ.ศ. 2544 โดยได้ตัด “โรคอื่นๆ ที่แพทย์เห็นว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม” ออก และเพิ่ม “โรคพิษสุราเรื้อรัง” เข้ามาแทน ในส่วนของการตัดโรคอื่นๆ ที่แพทย์เห็นว่าจะเป็นอุปสรรคฯ ออกนั้น เนื่องจากเห็นว่า กินความกว้างเกินไปและแพทย์อาจไม่สามารถระบุให้ได้ว่าโรคอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ ยังมีผลให้การสมัครสมาชิกสามัญต่อไปมีความสะดวกรวดเร็วขึ้นเพราะไม่จำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์ประกอบการสมัคร

2. ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับ พ.ศ. 2564 เป็นข้อบังคับที่ออกตามความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ซึ่งบัญญัติให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละสาขามี 4 ระดับ คือ วุฒิสถาปนิก สามัญสถาปนิก ภาคีสถาปนิก และภาคีสถาปนิกพิเศษ โดยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก การออกข้อบังคับฉบับนี้จึงทำให้ กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2542) ที่ออกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2508 เป็นอันยกเลิกไปโดยปริยาย หลังจากที่ยังคงใช้บังคับโดยอนุโลมมาเป็นเวลา 20 ปี และใช้ข้อบังคับสภาสถาปนิกฉบับนี้แทน

การออกข้อบังคับสภาสถาปนิกฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญสองอย่าง อย่างแรกคือเพื่อให้มีข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ใช้บังคับ และเนื่องจาก กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2542) มีข้อกำหนดทั้งในเรื่องของการกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม และการกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบวิชาชีพฯแต่ละระดับ ซึ่งในส่วนแรกนั้น ได้มีการออก กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2549 มาแล้ว กฎกระทรวงฉบับปี 2549 นี้ได้กำหนดชนิดงานในวิชาชีพ ที่แม้จะใกล้เคียงกับที่กำหนดไว้เดิมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2542) แต่ก็มีรายละเอียดถ้อยคำและลำดับที่แตกต่างกัน ทำให้การนำเรื่องหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎกระทรวงเก่า พ.ศ. 2542 มาใช้ร่วมกับชนิดงานตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2549 เป็นไปด้วยความสับสน ในการออกข้อบังคับฉบับนี้ เป็นการนำเอาเนื้อหาสาระเดิมของข้อกำหนดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2542) มาใส่ไว้ในข้อบังคับฉบับนี้เพื่อไม่ให้มีข้อความขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2549

นอกจากนั้น ข้อบังคับสภาสถาปนิกฉบับนี้ยังได้เพิ่มหลักเกณฑ์ในระดับสามัญสถาปนิกของทุกสาขายกเว้นสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง โดยระดับสามัญสถาปนิกตามข้อบังคับสภาสถาปนิกฉบับนี้ มี 2 แบบ ดังแสดงอยู่ใน ข้อ 4 (1) (ข), (3) (ข) และ (4) (ข) คือแยกออกเป็น (ข/1) ระดับสามัญสถาปนิก และ (ข/2) ระดับสามัญสถาปนิกในชนิดงานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง ซึ่ง (ข/1) หมายถึงระดับสามัญสถาปนิกตามปกติเดิม ซึ่งจะสามารถประกอบวิชาชีพได้ในทุกชนิดงาน/ขนาด ยกเว้น ชนิดงานให้คำปรึกษา ส่วน (ข/2) ซึ่งมีชื่อเรียกตามข้อบังคับฯว่า “ระดับสามัญสถาปนิกในชนิดงานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง” ถูกเพิ่มขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ให้กับผู้ประกอบวิชาชีพฯที่ประกอบวิชาชีพในด้านการบริหารและอำนวยการก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบางคนอาจประสบปัญหาในการเลื่อนระดับจากภาคีสถาปนิกเป็นสามัญสถาปนิก เนื่องจาก ขาดผลงานด้านการออกแบบ ฯลฯ ก็สามารถใช้ช่องทาง (ข/2) นี้ในการเลื่อนระดับได้ โดยระดับสามัญสถาปนิกในชนิดงานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง จะสามารถประกอบวิชาชีพได้ได้ในชนิดงาน (3) งานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง ทุกขนาด ส่วนงานในชนิดงานออกแบบ งานตรวจสอบ งานศึกษาโครงการ จะมีข้อจำกัดทำได้เท่ากับระดับภาคีสถาปนิก

3. ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ พ.ศ. 2564 ก็เป็นข้อบังคับที่เกี่ยวเนื่องกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสามัญเช่นกัน โดยที่มาตรา 12 (4) บัญญัติให้สมาชิกสามัญต้องไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก และมาตรา 12 (5) บัญญัติว่าต้องไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่เป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก พระราชบัญญัติจึงให้สภาสถาปนิกมีอำนาจและหน้าที่ ตามมาตรา 8 (6) (ซ) ในการออกข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม และการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ซึ่งในส่วนของจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมได้ออกข้อบังคับไปแล้ว

ข้อบังคับสภาสถาปนิกฉบับนี้เป็นการกำหนดกรณีต่างๆ ที่คณะกรรมการจรรยาบรรณอาจพิจารณาวินิจฉัยว่าเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพได้ ซึ่งล้วนเป็นกรณีที่ร้ายแรงทั้งสิ้น การวินิจฉัยดังกล่าวอาจมีผลให้สมาชิกผู้ถูกวินิจฉัยนั้นมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายและถูกคณะกรรมการลงมติให้พ้นจากสมาชิกภาพได้ การพ้นจากสมาชิกภาพของสภาสถาปนิกยังมีผลให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯของผู้นั้นสิ้นสุดลงไปด้วยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 วรรคสอง

ดาวน์โหลด:
aa\cr64.pdf
aa\cr64-02.pdf
aa\cr64-03.pdf

 

Facebook
Twitter
LinkedIn