กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดเรื่องการขออนุญาต

กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดเรื่องการขออนุญาต

19 มี.ค. 2564

กระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงควบคุมอาคารฉบับใหม่สองฉบับซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ “กฎกระทรวง กำหนดแบบคำขออนุญาต ใบอนุญาต ใบรับรอง คำสั่ง และแบบหนังสือตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2564” และ “กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต การออกใบรับรอง และการออกใบแทนตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2564” โดยฉบับแรกเพื่อใช้บังคับแทน กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528) และอีกฉบับหนึ่งเพื่อใช้แทนกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2528) กฎกระทรวง ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2534) กฎกระทรวง ฉบับที่ 45 (พ.ศ. 2538) กฎกระทรวง ฉบับที่ 56 (พ.ศ. 2543) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 57 (พ.ศ. 2544) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564

กฎกระทรวง กำหนดแบบคำขออนุญาตฯ พ.ศ. 2564 เป็นการกำหนดแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตตามกฎหมายควบคุมอาคาร ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับ กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตฯ พ.ศ. 2564 ที่ออกใช้บังคับใหม่ ส่วน กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตฯ พ.ศ. 2564 เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการขออนุญาต ฯลฯ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยสาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้คือการกำหนดให้สามารถยื่นคำขอพร้อมเอกสารโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการติดต่อกับภาครัฐ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากยิ่งขึ้นในการให้บริการประชาชน

เมื่อเปรียบเทียบกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้กับกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 เดิม จะมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ไม่ต่างจากเดิมเป็นส่วนใหญ่ โดยมีข้อที่ได้ปรับปรุงหรือเพิ่มเติม โดยสังเขป ดังนี้

– กฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนดให้การยื่นคำขอและเอกสารต่างๆ ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในระหว่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามเดิมไปก่อน

– สำหรับการขอรับใบอนุญาตรื้อถอนอาคารเกี่ยวกับอาคารสาธารณะ อาคารพิเศษ หรืออาคารที่ก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรและวัสดุทนไฟเป็นส่วนใหญ่ จะต้องแนบมาตรการรื้อถอนอาคารจำนวนหนึ่งชุดพร้อมกับคำขอด้วย

– ในการรับคำขอ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอ รวมทั้งข้อมูล เอกสารและหลักฐานว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ในกรณีไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนให้แจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบทันที ถ้าเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ในขณะนั้น ก็ให้แจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขหรือเพิ่มเติม แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้ในขณะนั้น ให้บันทึกความบกพร่องนั้นไว้และแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด ในกรณีที่มิใช่เป็นการยื่นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ขอรับใบอนุญาตลงนามไว้ในบันทึกนั้นด้วย

– ในกรณีข้างต้น หากผู้ขอรับใบอนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอหรือไม่จัดส่งข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไป และจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบต่อไป

– กำหนดให้ชัดเจนขึ้นสำหรับการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบ ให้ผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต ว่าให้ยื่นคำขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น พร้อมด้วยเอกสาร เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับคำขอแล้ว ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอน และเมื่อตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้อง ก็ให้ออกใบอนุญาตตามแบบ อ.๖

– แบบคำขอและแบบใบอนุญาต มีการปรับเปลี่ยนชื่อไปจากเดิม ดังนี้

เดิม ใหม่
แบบคำขอ แบบใบอนุญาต แบบคำขอ แบบใบอนุญาต
ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคาร ข.๑ อ.๑ ข.๑ อ.๑
เคลื่อนย้ายอาคาร-ท้องถิ่นที่อาคารตั้งอยู่ ข.๒ อ.๒ ข.๑ อ.๑
เคลื่อนย้ายอาคาร-ท้องถิ่นอื่น อ.๓ อ.๒
เปลี่ยนการใช้อาคาร ข.๓ อ.๕ ข.๒ อ.๔
ดัดแปลงที่จอดรถฯ ข.๔ อ.๔ ข.๓ อ.๓
ต่ออายุใบอนุญาตฯ ข.๕ ข.๔
รับรองการก่อสร้างอาคาร ข.๖ อ.๖ หนังสือแจ้ง อ.๕
ขอรับใบแทนใบอนุญาต ข.๗ ข.๕
ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังฯลฯ ข.๖ อ.๖
การอนุญาตให้โอนใบอนุญาต ข.๘ น.๙ ข.๗ หนังสือแจ้ง

 

ในแบบคำขอที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม (ข.๑ ถึง ข.๗ ยกเว้น ข.๕) นอกจาก หนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพฯซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณอาคาร (วิศวกร) และผู้รับผิดชอบงานออกแบบอาคาร (สถาปนิก) (แบบ น.๒) และหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงาน (แบบ น.๔) แล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพฯยังจะต้องแนบ “หนังสือรับรองการได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ที่ออกโดยสภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิก แล้วแต่กรณี” ด้วย

สำหรับใบอนุญาตที่ออกตามกฎกระทรวงฉบับเดิม ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตนั้นจะสิ้นอายุ ส่วนบรรดาคำขอที่ยื่นไว้แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงใหม่ใช้บังคับและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขอที่ได้ยื่นตามกฎกระทรวงใหม่โดยอนุโลม

ข้อกำหนดที่ให้มีการดำเนินการยื่นคำขอโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ คงจะช่วยอำนวยความสะดวกและรวดเร็วแก่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นคนรุ่นใหม่หรือบริษัทที่มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์น่าจะยังไม่สามารถใช้ได้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากยังขาดความพร้อม

ในการยื่นคำขออนุญาตออนไลน์ จะทำผ่านระบบกลางที่เรียกว่า Biz Portal (ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน) บนเว็บไซต์ biz.govchannel.go.th ที่จัดทำโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยในช่วงแรกจะมีเพียงการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคาร (ข.1) และการขอใบรับรองการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร (ข.6 เดิม) ก่อน

การใช้งาน Biz Portal ครั้งแรกผู้ใช้จะต้องสมัครสมาชิกเพื่อเข้าสู่ระบบก่อน โดยคลิก เข้าสู่ระบบ > เข้าสู่ระบบด้วยบัญชีประชาชน/เจ้าหน้าที่ > สมัครสมาชิก หรือหากมีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้วก็ใส่ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน และรหัสผ่าน เพื่อเข้าสู่ระบบ ในการขออนุญาต คลิก ขออนุญาตออนไลน์ > ขอใบอนุญาต/งานบริการใหม่ > ธุรกิจก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง > ขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร(ข.1) > เลือกกรณีของใบอนุญาต > ดำเนินการต่อ (ในขณะที่เขียนข่าว ยังไม่สามารถใช้งานจริงได้)

 

ดาวน์โหลด:

cba\mr\mr64-68d.pdf

cba\mr\mr64-68e.pdf

 

Facebook
Twitter
LinkedIn