พรบ.เวนคืน มาตรา 34 ขัดรัฐธรรมนูญ

พรบ.เวนคืน มาตรา 34 ขัดรัฐธรรมนูญ
15 มี.ค. 2564

ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยที่ 2/2564 เรื่องพิจารณาที่ 17/2563 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 34 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่

คำวินิจฉัยนี้เป็นกรณีที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกของบิดา ยื่นฟ้องการประปานครหลวง และผู้ว่าการประปานครหลวง ว่าบิดาของผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา ประกาศในปี พ.ศ. 2539 เพื่อสร้างคลองส่งน้ำดิบ ซึ่งในปี พ.ศ. 2543 ผู้ถูกฟ้องคดีได้นำเงินค่าทดแทนจำนวน 2,156,400 บาท ไปฝากไว้กับธนาคารในชื่อบัญชีของบิดาของผู้ฟ้องคดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ศาลได้ตั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดก ในขณะนั้นผู้ฟ้องคดีพบว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวสูญหาย จึงให้กรมที่ดินออกใบแทนโฉนดให้ ดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558 เมื่อผู้ฟ้องคดีไปติดต่อขอรับเงินทดแทน ก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า จะต้องทราบจำนวนเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนที่แน่นอนก่อนจึงจะกำหนดค่าทดแทนได้ จึงมีการรังวัดที่ดินในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งผลการรังวัดปรากฏว่าที่ดินถูกเวนคืนทั้งแปลง ผู้ฟ้องคดีพยายามติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนที่ดินกับผู้ถูกฟ้องคดีอีกหลายครั้ง จนในปี พ.ศ. 2560 ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งแก่ผู้ฟ้องคดีว่า ได้นำเงินค่าทดแทนไปฝากไว้กับธนาคารแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเกินกว่าสิบปีนับแต่วันที่มีการวางเงิน เป็นผลให้เงินค่าทดแทนตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 34 ซึ่งบัญญัติว่า การร้องขอรับเงินที่ว่างไว้ตามมาตรา 31 ให้ร้องขอรับภายในสิบปีนับแต่วันที่มีการวางเงิน ถ้าไม่ร้องขอภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น ให้เงินตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้สั่งผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดี

ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่า พรบ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 34 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จึงไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากศาลปกครองกลางจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวบังคับคดี และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น จึงส่งคำโต้แย้งดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

ในคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่า หลักการตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มีว่า กฎหมายนั้นต้องไม่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ กล่าวคือ ต้องมีความเหมาะสม มีความจำเป็น และได้สัดส่วนหรือมีความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิหรือเสรีภาพที่บุคคลจะต้องสูญเสียไปอันเนื่องจากกฎหมายนั้น บทบัญญัติตามมาตรา 34 ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่ยึดถือเพียงความสะดวกของรัฐแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนและยังไม่คำนึงถึงกรณีที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอาจมีเหตุขัดข้องในการแสดงสิทธิของตนหรือมีกรณีที่อาจทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิของตนได้ตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้ ในการเวนคืนรัฐย่อมมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนที่เป็นธรรมแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อชดเชยเยียวยาความเสียหายที่บุคคลได้รับจากการที่รัฐได้พรากเอากรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลเหล่านั้นไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นการแบกรับภาระหน้าทีของบุคคลที่มีต่อสาธารณะเกินไปกว่าบุคคลที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกันมากพออยู่แล้ว บทบัญญัติมาตรา 34 เป็นการลิดรอนสิทธิของบุคคลผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนเพิ่มเติมไปอีก มีผลเป็นว่ารัฐใช้อำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองและคุ้มครองไปโดยเจ้าของไม่ได้รับค่าทดแทนที่เป็นธรรมถือเป็นการล่วงล้ำสาระสำคัญแห่งสิทธิของบุคคลที่ต้องได้รับเงินค่าทดแทนจากการถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จนถึงขั้นทำลายหลักประกันที่ว่าทรัพย์สินของประชาชนจะไม่ถูกเวนคืนไปใช้เป็นประโยชน์สาธารณะโดยปราศจากการจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 37 วรรคสาม ไปโดยปริยาย

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 34 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง

 

ดาวน์โหลด: คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่2-2564.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn