ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงควบคุมอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ

ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงควบคุมอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ
4 มิ.ย. 2564

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออก “กฎกระทรวง ฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 เพื่อปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อกำหนดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ให้เริ่มใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

เนื้อหาของกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหรือผู้ป่วยฉุกเฉินในอาคาร เพื่อให้บุคคลที่ใช้ประโยชน์ในอาคารได้รับความปลอดภัยยิ่งขึ้น มีเรื่องต่างๆ สรุปได้ดังนี้

ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับช่องทางในการเข้าไปบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ ขนาดของห้องว่างที่ต้องจัดให้มี ติดต่อกับลิฟต์ดับเพลิงหรือช่องบันไดหนีไฟซึ่งเป็นช่องทางสำหรับบุคคลภายนอกเข้าไปบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเดิมกำหนดเพียงมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 6.00 ตารางเมตร ได้กำหนดเพิ่มให้มีด้านแคบที่สุดไม่น้อยกว่า 2.50 เมตรด้วยเพื่อรองรับการขนย้ายผู้ป่วย (ข้อ 28)

กำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีพื้นที่สำหรับยานพาหนะในการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอย่างอื่น ได้แก่ พื้นที่สำหรับรถดับเพลิง และ รถพยาบาลหรือรถปฏิบัติการฉุกเฉิน มีขนาด ตำแหน่งที่ตั้งตามที่กำหนด และให้มีรูปแบบ สัญลักษณ์ และรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าวตามที่กำหนดท้ายกฎกระทรวง (เพิ่มข้อ 29/1) อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงฉบับที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาไม่ปรากฏว่ามีรูปแบบ สัญลักษณ์ และรายละเอียดท้ายกฎกระทรวง

กำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะต้องจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือ AED (Automated External Defibrillator) ส่วนรายละเอียดของเครื่อง AED รวมถึงจำนวน ตำแหน่ง และระบบการติดตั้ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินประกาศกำหนด (เพิ่มข้อ 29/2)

กำหนดให้อาคารสูงที่เป็นอาคารสาธารณะ หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีสี่ขั้นขึ้นไปที่เป็นอาคารสาธารณะ ต้องจัดให้มีลิฟต์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยหรือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างน้อยหนึ่งชุด มีขนาดบรรทุกไม่น้อยกว่า 1,200 กก. มีขนาดภายในกว้างและลึกไม่น้อยกว่า 1.15 x 2.30 เมตร ซึ่งจอดได้ทุกชั้นของอาคาร โดยอาจนำลิฟต์โดยสารหรือลิฟต์ดับเพลิงที่มีรายละเอียดดังกล่าวมาใช้เป็นลิฟต์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยหรือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ (เพิ่มข้อ 44/1) ขนาดลิฟต์ที่กำหนดนี้เป็นขนาดมาตรฐานขั้นต่ำที่จะสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินพร้อมทั้งทำ CPR เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้

สำหรับลิฟต์โดยสารและลิฟต์ดับเพลิงยังคงข้อกำหนดเดิม เพียงแต่ปรับปรุงการลำดับความ โดยให้ข้อ 43 เป็นข้อกำหนดสำหรับลิฟต์โดยสาร ข้อ 44 เป็นข้อกำหนดสำหรับลิฟต์ดับเพลิง และเพิ่มข้อ 44/1 เป็นข้อกำหนดสำหรับ”ลิฟต์ฉุกเฉิน” สำหรับลิฟต์ดับเพลิง มีการแก้ไขตัวเลขความดันลมขณะใช้งานของระบบอัดลมภายในห้องโถงหน้าลิฟต์ที่พิมพ์ผิดอยู่เดิมให้ถูกต้อง (แต่ตัวเลขความดันลมของระบบอัดลมภายในช่องบันไดหนีไฟในข้อ 25 ยังไม่ได้แก้ไข)

ดาวน์โหลด: cba/mr/mr64-69.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn