กฎกระทรวงการควบคุมกระเช้าไฟฟ้า

กฎกระทรวงการควบคุมกระเช้าไฟฟ้า
13 ส.ค. 2564

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออก “กฎกระทรวงการควบคุมกระเช้าไฟฟ้า พ.ศ. 2564” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 เพื่อกำหนดให้กระเช้าไฟฟ้าเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย ฯลฯ เกี่ยวกับกระเช้าไฟฟ้า

กระเช้าไฟฟ้าตามกฎกระทรวงฉบับนี้มีความหมายตามคำภาษาอังกฤษ cable car ซึ่งจะครอบคลุมถึง ระบบการขนส่งที่ใช้วิธีลากจูงไปตามสายเคเบิล อาจมีลักษณะเป็นกระเช้าโดยสารที่เคลื่อนที่เหนือพื้นดิน (aerial lift, gondola lift, aerial tramway) หรือเป็นรถราง (cable railway, funicular) ซึ่งที่ผ่านมา กฎหมายควบคุมอาคารควบคุมไปไม่ถึง และมีการก่อสร้างระบบกระเช้าไฟฟ้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย จนทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เนื้อหาของกฎกระทรวงฉบับนี้ พอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

– กระเช้าไฟฟ้า ตามกฎกระทรวงนี้ให้นิยามหมายความว่า สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นสำหรับขนส่งบุคคลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยการลากจูงให้เคลื่อนที่ไปตามลวดเกลียวโลหะ หรือเคลื่อนที่ไปตามราง หรือเคลื่อนที่ในลักษณะเดียวกันด้วยระบบไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์
– กำหนดให้กระเช้าไฟฟ้าเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 (2)
– การออกแบบ ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย หรือการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดที่สำคัญของระบบกระเช้าไฟฟ้า ให้เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบ ก่อสร้าง หรือดัดแปลงที่ได้รับการยอมรับทั่วไปและกรมโยธาธิการและผังเมืองเห็นชอบ
– กำหนดให้กระเช้าไฟฟ้าต้องมีระยะห่างจากเขตที่ดินของผู้อื่นไม่น้อยกว่า 6 เมตร เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงด้านนั้น แต่จะต้องไม่น้อยกว่าระยะปลอดภัยตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วไปและกรมโยธาธิการและผังเมืองเห็นชอบ
– กำหนดคุณสมบัติของวัสดุ ชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างหรือดัดแปลงกระเช้าไฟฟ้า

– การขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายกระเช้าไฟฟ้า เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับนี้ โดยใบอนุญาตจะมีอายุสองปี
– กำหนดคุณสมบัติของผู้ควบคุมงาน
– เมื่อก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายกระเช้าไฟฟ้าแล้วเสร็จ ต้องแจ้งความประสงค์จะใช้กระเช้าไฟฟ้า เพื่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบว่าการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายเป็นไปโดยถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต และมีรายงานผลการพิจารณาตรวจสอบและทดสอบกระเช้าไฟฟ้า และจะต้องจัดให้มีการประกันภัยเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอก เจ้าพนักงานจะออกใบรับรองซึ่งมีอายุหนึ่งปี
– กำหนดนิยามคำว่า “การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับนี้หมายความว่า การเปลี่ยนระบบให้มีอัตราเร็วเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงอัตราการบรรทุกที่กำหนดไว้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจำนวนที่นั่ง ระยะเรียงของที่นั่งหรือความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกของที่นั่ง การเปลี่ยนแปลงระบบเบรก หรือองค์ประกอบต่างๆ ของอุปกรณ์ หรือการเปลี่ยนกำลังส่งหรือรูปแบบของอุปกรณ์ส่งกำลังหลักหรือหน่วยส่งกำลังฉุกเฉินหรือการเปลี่ยนแปลงระบบควบคุม
– หากประสงค์จะเปลี่ยนแปลงกระเช้าไฟฟ้า ให้แจ้งความประสงค์ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบที่กำหนด พร้อมหนังสือรับรองของวิศวกรว่าสามารถเปลี่ยนแปลงกระเช้าไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย
– กำหนดเรื่องการต่ออายุใบอนุญาต การขอใบรับรองแทนใบรับรองที่จะสิ้นอายุ การขอรับใบแทนใบอนุญาตหรือใบรับรองในกรณีสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ การโอนใบอนุญาตหรือใบรับรอง
– การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายกระเช้าไฟฟ้าโดยมิได้รับอนุญาตหรือมิได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการตามมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แล้วแต่กรณี การใช้กระเช้าไฟฟ้าโดยไม่มีใบรับรองหรือใบรับรองสิ้นอายุ ให้ดำเนินการตามมาตรา 44 และในกรณีมีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการตามมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 46 โดยอนุโลม

– กำหนดมาตรการความปลอดภัยต่างๆ เช่น ต้องจัดให้มีผู้ควบคุมกระเช้าไฟฟ้า คุณสมบัติของผู้ควบคุมกระเช้าไฟฟ้า ต้องจัดให้มีการบำรุงรักษาตามคู่มือการบำรุงรักษาของผู้ผลิตเพื่อให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการใช้งานอยู่เสมอ ต้องจัดให้มีป้ายเตือน ป้ายข้อปฏิบัติ ระบบสื่อสาร ระบบสัญญาณแจ้งเหตุอัตโนมัติ ระบบช่วยเหลือผู้ใช้กระเช้าไฟฟ้าฉุกเฉิน มาตรการป้องกันไม่ให้มีอุปสรรคกีดขวางตลอดเส้นทางการเคลื่อนที่ของกระเช้าไฟฟ้า มาตรการหยุดใช้กระเช้าไฟฟ้า ฯลฯ
– ต้องจัดให้มีการตรวจสอบ และจัดให้มีการประกันภัยเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
– กำหนดค่าธรรมเนียมต่างๆ
– กระเช้าไฟฟ้าที่ใช้อยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะใช้ต่อไปให้มีหนังสือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นพร้อมคำรับรองของวิศวกรว่ากระเช้าไฟฟ้ามีความปลอดภัยสามารถใช้งานต่อไปได้ และเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงว่าได้จัดให้มี ผู้ควบคุมกระเช้าไฟฟ้า มาตรการความปลอดภัย การประกันภัย ตามกฎกระทรวงนี้แล้ว ทั้งนี้ ให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกระเช้าไฟฟ้าให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ภายใน 180 วัน โดยให้ได้รับยกเว้นเฉพาะเรื่องระยะห่างจากเขตที่ดินของผู้อื่น และเมื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อพิจารณาออกใบรับรองต่อไป

ดาวน์โหลด: cba\mr\mr64-70b.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn