ปรับปรุงวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

ปรับปรุงวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
6 ก.ค. 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออก “กฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2565” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กฎกระทรวงฉบับนี้ออกมาเพื่อใช้บังคับแทนกฎกระทรวงฉบับเดิม พ.ศ. 2550 และฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันซึ่งวิทยาการและเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายอื่นที่กำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยทางด้านวิศวกรรม

กฎกระทรวงฉบับนี้ยังคงกำหนดให้วิชาชีพวิศวกรรม 7 สาขาเป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ได้แก่ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมเคมี รวมทั้งกำหนดสาขาวิศวกรรมอื่นอีก 19 สาขา ตามที่ได้เคยกำหนดแล้วในกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และกำหนดงานในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละสาขา 6 ชนิด ซึ่งยังคงเดิม ได้แก่ งานให้คำปรึกษา งานวางโครงการ งานออกแบบและคำนวณ งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต งานพิจารณาตรวจสอบ และงานอำนวยการใช้

ส่วนสำคัญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นในกฎกระทรวงฉบับนี้อยู่ในส่วนของการกำหนดประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาต่างๆ เฉพาะในสาขาวิศวกรรมโยธา (ข้อ 6) ได้เพิ่มจาก 21 ประเภท เป็น 30 ประเภท ใน 21 ประเภทเดิม ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงถ้อยคำ มีการแก้ไขเพิ่มเติมในเนื้อหาของบางประเภท เช่น
– สำหรับอาคารโดยทั่วไป (1) ยังคงกำหนดให้งานในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธาได้แก่ อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป หรืออาคารที่มีชั้นใดชั้นหนึ่งมีความสูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป ส่วนอาคารที่มีช่วงคานตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป กฎกระทรวงฉบับนี้ได้ปรับปรุงเป็น “อาคารที่มีระยะห่างระหว่างศูนย์กลางเสาหรือสิ่งรองรับอื่นตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไปหรือองค์อาคารยื่นจากขอบนอกของที่รองรับตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป”
– สำหรับอัฒจันทร์ (6) นอกจากจะกำหนดอัฒจันทร์ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไปแล้ว ยังกำหนดเพิ่มสำหรับกรณีมีส่วนใดส่วนหนึ่งของพื้นอัฒจันทร์สูงจากระดับฐานหรือพื้นดินที่ก่อสร้างตั้งแต่ 2.50 เมตรขึ้นไปด้วย
– เปลี่ยนแปลงจาก ชิ้นส่วนโครงสร้างคอนกรีตหล่อสำเร็จหรือคอนกรีตอัดแรงหล่อสำเร็จทุกชนิดที่มีความยาวตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป เป็น “(23) โครงสร้างที่เป็นคาน เสา พื้น กำแพง ผนัง หรือบันได ที่ใช้รับน้ำหนัก ประกอบด้วยคอนกรีตหล่อสำเร็จหรือคอนกรีตอัดแรงหล่อสำเร็จ ทุกขนาด” (ไม่ระบุความยาว)
– แบบหล่อคอนกรีตและโครงสร้างรองรับแบบหล่อคอนกรีต (30) เพิ่มเติมกรณีคานหรือแผ่นพื้นที่มีความสูงตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป และฐานรองรับน้ำหนักที่มีความสูงตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป

สำหรับประเภทที่กำหนดเพิ่มขึ้น ซึ่งหลายประเภทเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงควบคุมอาคารที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้แก่
(3) อาคารตามประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
(4) อาคารที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 150 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งอยู่บนพื้นที่เชิงลาดที่มีความลาดตั้งแต่ 35 องศาขึ้นไป
(13) งานยกหรือเคลื่อนย้ายอาคารทุกประเภทที่มีน้ำหนักรวมของอาคารตั้งแต่ 50 เมตริกตันขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 150 ตารางเมตรขึ้นไป
(14) งานต่อเติม รื้อถอน หรือดัดแปลงอาคารทุกประเภท ที่ทำให้สัดส่วนของอาคารผิดไปจากแบบแปลนหรือรายการประกอบแบบที่ได้รับอนุญาตเกินร้อยละ 5 ของพื้นที่อาคารนั้น หรือเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละ 10
(15) งานขุดดินที่มีความลึกจากระดับพื้นดินมากกว่า 3 เมตร หรือพื้นที่ปากบ่อดินมากกว่า 10,000 ตารางเมตร
(16) งานถมดินที่มีพื้นที่ของเนินดินติดต่อเป็นผืนเดียวกันมากกว่า 2,000 ตารางเมตร และมีความสูงของเนินดินตั้งแต่ 2 เมตร นับจากระดับที่ดินต่างเจ้าของที่อยู่ข้างเคียง
(24) โครงสร้างรองรับท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.30 เมตรขึ้นไป หรือพื้นที่หน้าตัดของทุกท่อรวมกันตั้งแต่ 0.10 ตารางเมตรขึ้นไป
(25) โครงสร้างรองรับหรือติดตั้งเครื่องเล่นที่เคลื่อนที่ได้โดยมีความเร็วตั้งแต่ 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป หรือมีความสูงจากระดับพื้นที่ตั้งของเครื่องเล่นถึงระดับพื้นที่สูงสุดที่ผู้เล่นเครื่องเล่นขึ้นไปเล่นตั้งแต่ 2.50 เมตรขึ้นไป หรือมีส่วนที่ต้องใช้น้ำมีความลึกของระดับน้ำตั้งแต่ 0.80 เมตรขึ้นไป
(26) โครงสร้างของปั้นจั่นหอสูงหรือเดอริกเครนทุกขนาด

ดาวน์โหลด: กฎกระทรวงฯ

Facebook
Twitter
LinkedIn