ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสถาปนิก

ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสถาปนิก

19 มี.ค. 2566

พระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป เป็นการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ให้รองรับการดำเนินการตามความตกลงระหว่างประเทศด้านการค้าบริการสาขาสถาปัตยกรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน

เหตุผลในการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศด้านการค้าบริการสาขาสถาปัตยกรรม โดยกำหนดให้สถาปนิกต่างชาติซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามความตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวสามารถเข้ามาประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในประเทศไทย และให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาสถาปนิกสามารถขึ้นทะเบียนเพื่อไปประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศภาคีความตกลงระหว่างประเทศได้ แต่โดยกฎหมายว่าด้วยสถาปนิกที่ใช้บังคับอยู่ขณะนี้ยังไม่มีบทบัญญัติที่รองรับการดำเนินการตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีดังกล่าว รวมทั้งความตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่อาจมีขึ้นในอนาคต สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการรองรับกรณีดังกล่าว และแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาสถาปนิก กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และมาตรการทางจรรยาบรรณของสถาปนิกต่างชาติและสถาปนิกขึ้นทะเบียน และกำหนดให้สมาชิกสภาสถาปนิกทุกคนต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและความเที่ยงตรงแห่งวิชาชีพ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ

เหตุผลหลักของการแก้ไขเพิ่มเติมคือเรื่องการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามความตกลงระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีพันธะผูกพันกับนานาชาติตามความตกลงต่างๆ เช่น ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) ซึ่งบริการด้านสถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งในสาขาบริการด้านธุรกิจและวิชาชีพ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ก็ได้กำหนดให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการเสรีเป็นตลาดเดียว โดยมีการลงนามในเอกสารการยอมรับร่วมกันของอาเซียนด้านการบริการสถาปัตยกรรม (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Architectural Services, MRA) เมื่อปี พ.ศ. 2550 ซึ่งได้ถูกใช้เป็นมาตรฐานให้สถาปนิกในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันได้ในตลาดวิชาชีพสถาปัตยกรรม ภายใต้หลักเกณฑ์และข้อกำหนดของประเทศท้องถิ่น และในอนาคตก็อาจมีข้อตกลงในลักษณะเดียวกันนี้อีก

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ที่ใช้บังคับมากว่า 23 ปี ไม่มีบทบัญญัติที่รองรับการดำเนินการตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีดังกล่าว รวมทั้งความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ ที่อาจมีขึ้นในอนาคต จึงแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการรองรับกรณีดังกล่าว เพื่อให้การประกอบวิชาชีพระหว่างประเทศตามความตกลงระหว่างประเทศเป็นไปอย่างมีหลักการ เพื่อให้กฎเกณฑ์ต่างๆ มีสภาพการบังคับทางกฎหมายที่สมบูรณ์และไม่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

พระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ได้เพิ่มบทนิยาม “สถาปนิกขึ้นทะเบียน” ให้หมายถึง สถาปนิกไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสภาสถาปนิกให้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศที่สภาสถาปนิกประกาศกำหนด และบทนิยาม “สถาปนิกต่างชาติขึ้นทะเบียน” ให้หมายความถึงสถาปนิกต่างชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสภาสถาปนิกให้สามารถประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ทั้งนี้ ตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี นอกจากได้กำหนดวัตถุประสงค์ อำนาจและหน้าที่ ของสภาสถาปนิกเพิ่มเติม ปรับปรุงมาตรา 45 เพื่อให้การประกอบวิชาชีพของสถาปนิกต่างชาติขึ้นทะเบียนในประเทศไทยอาจทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และกำหนดให้คณะกรรมการสภาสถาปนิกสามารถออกประกาศเพื่อกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะขึ้นทะเบียน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบของสภานายกพิเศษ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้สถาปนิกต่างชาติขึ้นทะเบียนต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมด้วย โดยให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณฯ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 นี้ ยังได้แก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องอื่นๆ ให้เหมาะสมด้วย เช่น เรื่องที่มาและคุณสมบัติของกรรมการจรรยาบรรณ โดยได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการจรรยาบรรณว่าจะต้องไม่เป็นกรรมการสภาสถาปนิกด้วย และกำหนดให้มีกระบวนการสรรหากรรมการจรรยาบรรณเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่

ประเด็นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งในพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ การขยายการบังคับใช้จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมมายังสมาชิกสภาสถาปนิก ไม่ใช่เพียงเฉพาะผู้ได้รับใบอนุญาต ที่จะต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก ทั้งนี้ เนื่องจากสมาชิก แม้ยังไม่ได้รับใบอนุญาตก็ยังสามารถประกอบวิชาชีพในงานที่ไม่ใช่งานในวิชาชีพควบคุมได้ หากไม่มีการควบคุมด้านจรรยาบรรณ ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อวิชาชีพและสาธารณะได้ และข้อบังคับจรรยาบรรณมีการควบคุมความประพฤติบางข้อที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพรวมอยู่ด้วย นอกจากนั้น ยังช่วยแก้ปัญหาที่อาจมีผู้ได้รับใบอนุญาตประพฤติผิดจรรยาบรรณในขณะที่ใบอนุญาตขาดอายุ ซึ่งเป็นการอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย

มีการแก้ไขปรับปรุงในเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการจรรยาบรรณให้เกิดความยุติธรรมและเหมาะสมยิ่งขึ้นหลายประเด็น ตัวอย่างเช่น
– กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของสิทธิการกล่าวหาหรือสิทธิการกล่าวโทษ (อายุความ) ไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องการประพฤติผิดจรรยาบรรณและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด (เดิม ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่รู้เรื่องการประพฤติผิดจรรยาบรรณและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด) แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่มีการประพฤติผิดจรรยาบรรณนั้น (เดิม ไม่มีกำหนด)
– กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับความเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวของกรรมการจรรยาบรรณและอนุกรรมการ
– แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้กล่าวหาหรือผู้กล่าวโทษ มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการจรรยาบรรณได้เช่นเดียวกับผู้ได้รับใบอนุญาต (เดิม เฉพาะผู้ได้รับใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาด ส่วนผู้กล่าวหาหรือผู้กล่าวโทษไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัย หากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยก็ต้องไปฟ้องต่อศาลปกครองเลย)

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ นอกจากได้เพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเพื่อประกอบวิชาชีพระหว่างประเทศแล้ว ในอัตราค่าธรรมเนียมอื่นๆ ได้ปรับเผื่อสำหรับอนาคตไว้ เนื่องจาก การแก้ไขพระราชบัญญัติไม่สามารถกระทำได้บ่อย และอัตราท้ายพระราชบัญญัติเป็นเพียงอัตราขั้นสูงสุดที่จะสามารถเก็บได้เท่านั้น โดยจะเก็บจริงเท่าใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอีกทีหนึ่ง ซึ่งสภาสถาปนิกเคยออกมาชี้แจงว่า ยังไม่มีนโยบายที่จะปรับเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด

ดาวน์โหลด: aa\aa66(02).pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn