กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง

กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง
31 ส.ค. 2566

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร ออก “กฎกระทรวงกำหนดวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารประเภทควบคุมการใช้ พ.ศ. 2566” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 และให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

แต่เดิมนั้น มี กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527)ฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 48 (พ.ศ. 2540)ฯ และกฎกระทรวง ฉบับที่ 60 (พ.ศ. 2549)ฯ ซึ่งมีข้อกำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร แต่โดยที่กฎกระทรวงฉบับนี้ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ประกอบกับอาคารประเภทควบคุมการใช้ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารดังกล่าวอย่างเหมาะสม จึงออกกฎกระทรวงนี้ขึ้นเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและมาตรฐานสากล โดยให้ใช้บังคับกับอาคารประเภทควบคุมการใช้

กฎกระทรวงกำหนดวัสดุฯ ฉบับนี้ประกอบด้วยหมวดต่างๆ ได้แก่ วัสดุตกแต่งผิวภายในและวัสดุตกแต่งผิวพื้นภายใน วัสดุตกแต่งผิวภายนอกและผนังภายนอก หลังคา กระจก และแผ่นยิปซัม

ในส่วนของวัสดุตกแต่งผิวภายใน และวัสดุตกแต่งผิวพื้นภายใน จะพิจารณาถึงคุณสมบัติเกี่ยวกับการลามไฟและการกระจายควันของวัสดุ ในส่วนของวัสดุตกแต่งผิวภายนอกและผนังภายนอก มีการคำนึงถึงการยึดเกาะกับตัวอาคารไม่ให้เกิดการร่วงหล่น การต้านทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ การต้านทานแรงลม การสะท้อนแสง เป็นต้น และมีข้อกำหนดครอบคลุมถึงแผ่นโลหะคอมโพสิตด้วย

สำหรับกระจก มีการกำหนดกระจกที่ใช้เป็นผนังภาย ประตู หน้าต่าง และช่องเปิดของผนังภายนอกและผนังภายใน กระจกที่ยึดติดกับหรือใช้เป็นส่วนหนึ่งของราวกันตก ราวบันได ราวจับ การต้านทานแรงลมและการสะท้อนแสงของกระจกที่ใช้เป็นผนังภายนอก และกระจกที่ใช้เป็นพื้นทางเดินหรือพื้นบันไดด้วย

ข้อกำหนดในหลายส่วนยังจะต้องมีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มขึ้น ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดว่าให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนด ดังนั้นก็จะต้องมีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดในเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติ ชนิด การใช้วัสดุ การทดสอบ วิธีการออกแบบและคำนวณ และมาตรฐานน้ำหนักบรรทุก ของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารต่อไป

ดาวน์โหลด: cba/mr/mr66-70f.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn