ISA โครงการพัฒนาวิชาชีพ ครั้งที่ 3/67 ISA Architecture Visit ครั้งที่ 1-67 : “YANH Ratchawat Tour”

ISA โครงการพัฒนาวิชาชีพ ครั้งที่ 3/67 ISA Architecture Visit ครั้งที่ 1-67 :

“YANH Ratchawat Tour”

วันเสาร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 17:00 – 18:30 น. ณ YANH Ratchawat Hotel เขตดุสิต กรุงเทพฯ

วันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ISA สถาบันสถาปนิกสยาม สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้จัดกิจกรรม ISA Architecture visit ครั้งที่ 1-67 ได้พาสมาชิกสมาคมฯ สถาปนิก นิสิต-นักศึกษาสถาปัตยกรรม และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม ทัศนศึกษาหาประสบการณ์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบโรงแรม ที่ YANH Ratchawat Hotel พร้อมรับฟังการบรรยายให้ความรู้ โดย คุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล CHAT ARCHTECTS สถาปนิกผู้ออกแบบ

โดยกิจกรรมเริ่มต้น เวลา 17:00 น. ที่ห้องสัมมนาชั้น 3 ของ YANH Ratchawat Hotel ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก คุณเต่า manager Yanh และคุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล CHAT ARCHTECTS สถาปนิกผู้ออกแบบ และเริ่มดำเนินรายการโดยคุณอดุลย์ แก้วดี ได้กล่าวเปิดกิจกรรม อธิบายรายละเอียดโปรแกรมการรับฟังบรรยายและการเดินเยี่ยมชมโรงแรม หลังจากนั้นได้ส่งมอบให้ คุณอั๋น คุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล สถาปนิกผู้ออกแบบจาก CHAT ARCHTECTS เริ่มการบรรยาย
การบรรยายของคุณอั๋น คุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล เริ่มเล่าจากที่มาของการชอบศึกษา และทำ document ของที่ออฟฟิศ ที่สนใจบริบทต่างๆ ใกล้ๆ ตัว สถาปัตยกรรม รอบๆ โครงการ จนถึง วิถีชีวิต วัฒนธรรม ย่าน และผู้คน ที่เป็นสิ่งธรรมดาที่เราคุ้นตา เห็นทุกๆ วัน แต่แฝงไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ของสถาปัตยกรรมที่เกิดจากการประยุกต์ใช้สิ่งรอบตัวและการออกแบบที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พักอาศัยให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น การใช้เรือผูกกันเป็นทางเดินข้ามคลอง หรือ บ้านพักคนงานก่อสร้าง ในการก่อสร้างต่างๆ ใช้นั่งร้านขนาดใหญ่เรียงต่อกันเป็นจำนวนมาก และฟังก์ชันทุกอย่างเกิดขึ้นที่นั่งร้านนี้ ทั้งการตากผ้า กินข้าว การพบปะสังสรรค์ เรียกว่า ชีวิตทั้งหมดเกิดขึ้นบนนั่งร้านนี่เอง หลังจากนั้นได้ศึกษาจริงจัง ทำ drawing บันทึกเพื่อวิเคราะห์ภาษา การใช้งาน เทคนิคที่น่าสนใจเก็บไว้ จนสามารถสร้างนิยามว่าเป็น Bangkok Bastards หรือ สถาปัตยกรรมสารเลว และยกตัวอย่างงานออกแบบ SAMSEN Street Hotel ที่ใช้แนวคิดนี้ไปออกแบบอาคารเพื่อให้เป็น Urban Street Architecture ของย่านสามเสน ที่ออกแบบ facade อาคารโดยหยิบยืมภาษามาจากนั่งร่านของบ้านคนงาน plaza ด้านหน้าโครงการมาจากการศึกษาวิถีชีวิตของ Street Food จนเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของโครงการ นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่าง การศึกษาโครงเหล็กเบาของร้านของต้นไม้ที่คลอง 15 และหลังคาขึงผ้าสแลน นำไปสู่การออกแบบ งานกระชังหอยที่อ่างศิลา ในโครงการ “เทศกาลชิมหอยสุดปัง ชมกระชังอ่างศิลา” ที่โดดเด่นด้วยโครงไม้ไผ่จากการเลี้ยงหอย และpavilion ที่ขึงด้วยผ้าสแลนสีแดง และเล่าที่มาของโรงแรม YANH Ratchawat Hotel ที่เรามาทัศนศึกษาวันนี้
YANH Ratchawat Hotel เป็นโครงการปรับปรุงอาคารเก่า 3 อาคาร รวมกันเป็นโรงแรม ที่พี่อั๋นเล่าว่า การออกแบบ แบ่งออกเป็นเรื่องของการ ได้แรงบันดาลใจมาจาการศึกษา บริบท และสิ่งที่อยู่รอบๆ โครงการ เรียกว่าย่านราชวัตร ที่เป็นพื้นที่เก่าแก่มาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้ศึกษา บ้านเรือนโบราณแถวๆ นี้ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมแบบวัดและวัง แต่โดยมากจะอิงตามบ้านของชาวบ้าน ดูเหล็กดัด แผ่นกระเบื้อง บล็อกแก้ว ที่ดูธรรมดาในสายตาคนไทย แต่เป็นที่ตื่นตาตื่นใจสร้างความสนใจให้กับชาวต่างชาติ นอกจากนั้น ยังสนใจสะพานข้ามคลอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเมืองไทยสมัยก่อน แล้วยังหลงเหลืออยู่ในย่านนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังสนใจ element กระเบื้องสีขาวที่ติดอยู่ที่ตึกแถวสามชั้นด้านหน้าอาคาร ที่เคยได้สมญานามว่า ‘ตึกขาว’ หรือ ‘ตึกห้องน้ำ’ จากคนในท้องที่ เพราะผิวอาคารกรุด้วยกระเบื้องสี่เหลี่ยมสีขาวนวลขนาดเล็กเหมือนกับกระเบื้องแปะห้องน้ำ เพื่อเอามาใช้ร่วมกับการออกแบบโรงแรมด้วย

การออกแบบเริ่มต้นด้วยการ มองปัญหาที่ตัวอพาร์ตเมนต์เดิม คือ ห้องพักไม่มีทิวทัศน์สวยงามให้ชม โดยเฉพาะชั้นล่างๆ ที่ประจันหน้ากับด้านหลังของตึกแถว ตัวห้องพักเก่าก็มีขนาดยาวกว่า 10 เมตร ยาวจนไม่เหมาะกับเป็นห้องพักโรงแรม ปัญหานี้ถูกแก้ด้วยการร่นแนวผนังห้องพักเข้ามาจากส่วนทางเดิน 3 เมตร เพื่อทำให้ห้องพักมีขนาดเหมาะสม ส่วนเศษพื้นที่ที่เกิดขึ้น ก็เจาะช่องโล่งเชื่อมต่อจากชั้น 2 ถึงชั้นบนสุดเข้าด้วยกัน แล้วเว้นให้เหลือส่วนทางเดิน กลายเป็นสะพานที่เชื่อมต่อทางเดินกับห้องพักเข้าด้วยกัน ช่องโล่งนี้ยังมีข้อดี คือ ช่วยเปิดรับแสงธรรมชาติให้สาดส่องลงมา ทำให้ทางเดินไม่รู้สึกทึบตัน ทั้งยังช่วยให้อากาศถ่ายเทความร้อนด้วย ส่วนภายนอกโครงการ อาคารหลักที่ซ่อนตัวหลังแนวตึกแถว คือ อาคารโรงแรมซึ่งเดิมทีเคยเป็นอพาร์ตเมนต์มาก่อน ภายนอกถูกออกแบบใหม่โดยยังเก็บโครงสร้างเดิมไว้อยู่ บริเวณหัวมุมอาคารชั้นสองที่เคยเป็นห้องพักได้รับการปรับปรุงให้เป็น LOBBY โรงแรม ปลายสุดของห้องคือกระจกบานใหญ่เปิดไปรับกับย่านราชวัตร โดยมีเคาน์เตอร์ตรงกลางและเก้าอี้ริมกระจกใหญ่ ตกแต่งด้วยเหล็กดัดสีขาวที่มีเส้นสายเส้นสายอ่อนช้อยได้แรงบันดาลใจมาจากลูกกรงและเหล็กดัดที่ชาวบ้านติดตั้งบนประตูสะพานข้ามคลอง ส่วนลวดลายอันอ่อนช้อย คือ ลวดลายที่ดัดแปลงจากสถาปัตยกรรมโคโลเนียลที่สถาปนิกพบเจอ เป็นการผสมผสานเอกลักษณ์ที่หลากหลาย น่าสนใจของย่านนี้เอาไว้ด้วยกัน

หลังจากรับฟังการบรรยายเสร็จแล้ว คุณอั๋นได้พาเดินเยี่ยมชมจุดต่างๆ ของโครงการที่ได้บรรยายไว้ เริ่มตั้งแต่ ซอยกลางของโรงแรมที่ใช้ทั้งเป็นทางผ่านชุมชน และเป็นทางเชื่อมอาคาร และพื้นที่นั่ง Hang Out ของร้านกาแฟด้วย ต่อจากนั้น ขึ้นไปเยี่ยมชม Lobby ของโครงการที่ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของโครงการ ที่มีกระจกบานใหญ่เชื่อมกับย่านราชวัตร และภายในตกแต่งด้วยเหล็กดัดลวดลายอ่อนช้อย และมีผนังกรุกระจกเงาที่ทำให้เกิดประสบการณ์สะท้อนกันหลายด้านทำให้ Lobby มี space ที่น่าสนใจ ต่อจากนั้นได้พาไปเยี่ยมชมห้องพักของโรงแรม ที่ด้านหน้าปรับลดห้องลง 3 เมตร ส่วนด้านหลังของห้องพักที่ติดกับตึกด้านนอก ออกแบบให้ผนังของห้องน้ำเป็นผนังบล็อกแก้ว เพื่อให้รับแสงธรรมชาติเข้ามา ลดความอึดอัดของห้องภายใน ส่วนด้านหน้าห้องติดทางเดิน สถาปนิกก็ออกแบบให้เป็นบานหน้าต่างเปิดรับแสงธรรมชาติและเชื่อมกับบรรยากาศความคึกคักนอกห้อง แต่ยังรักษาความเป็นส่วนตัวได้อยู่จากระยะห่างที่เกิดขึ้น ระหว่างช่องโล่ง ออกแบบประติมากรรมตกแต่งอลูมิเนียมเบาสีขาวที่ช่วยเน้นความเชื่อมต่อตั้งแต่ชั้นล่างถึงชั้นบน และเป็นที่รองรับการประดับประดาตกแต่งในโอกาสต่างๆ ด้วย หลังจากชมห้องพักเสร็จแล้ว ได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก ที่บริเวณหน้าห้องพัก หันหน้าเข้าหา Court กลางของโรงแรมที่ซ่อนสระว่ายน้ำไว้ตรงกลาง เป็นอีกจุดที่สวยงามของ YANH Ratchawat Hotel

กิจกรรมวันนี้ต้องขอขอบคุณ คุณเต่า manager Yanh ที่อนุเคราะห์ให้คณะของเราได้เข้าเยี่ยมชมโรงแรม, คุณอั๋น คุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล สถาปนิกผู้ออกแบบจาก CHAT ARCHTECTS ที่มาบรรยาย สร้างแรงบันดาลใจและพาเดินเยี่ยมชมทุกจุดพร้อมกับการอธิบายเพิ่มเติมทุกจุดอย่างเป็นกันเองมาก ขอบคุณเจ้าหน้าที่สมาคมสถาปนิกสยาม และทีมISAสถาบันสถาปนิกสยามทุกท่าน ที่อยู่เบื้องหลังกิจกรรมดีๆ นี้ และสุดท้ายขอบคุณ สมาชิกสมาคมฯ สถาปนิก นิสิต-นักศึกษาสถาปัตยกรรม และผู้สนใจทุกท่านที่ติดตามกิจกรรมดีๆ ของ ISA สถาบันสถาปนิกสยาม และ เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้
สำหรับทุกท่านที่สนใจกิจกรรมดีๆ ต่อๆ ไป ของ ISA สถาบันสถาปนิกสยาม สามารถติดตามข่าวสาร และลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม ได้ทางเพจของ ISA สถาบันสถาปนิกสยาม และของสมาคมสถาปนิกสยามฯ

Facebook
Twitter
LinkedIn